หลักสูตรการสร้างและบริหารเครือข่าย โดย รศ. ดร.ประภาพรรณ อุ่นอบ

หลักสูตรการสร้างและบริหารเครือข่าย โดย รศ. ดร.ประภาพรรณ อุ่นอบ

ในการอบรมหลักสูตร “การสร้างและบริหารเครือข่าย” เมื่อวันที่ 14 – 15 กันยายน 2558 ซึ่งจัดโดยสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ (สภส.) นั้น เรียกได้ว่า “ภาคทฤษฎี” ของ รศ. ดร. ประภาพรรณ อุ่นอบ หรือที่รู้จักกันดีว่า “อาจารย์ป๊ะ” นั้นเข้มข้นและครอบคลุมรอบด้าน แต่ทว่าเข้าใจได้ง่าย เป็นการปูพื้นฐานให้พร้อมนำไปออกแบบการสร้างและบริหารเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงอยากจะนำรายละเอียดมาแบ่งปันกัน โดยเป็นการเรียบเรียงจากการบรรยายในการอบรมผสมผสานกับข้อมูลในหนังสือ “เครือข่าย กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานพัฒนาอย่างบูรณาการเชิงพื้นที่” ซึ่งอาจารย์ป๊ะเป็นผู้เขียน

เครือข่าย : ความจำเป็นพื้นฐานในการทำงานทางสังคม

ก่อนจะเข้าเนื้อหาเรื่อง “เครือข่าย” อาจารย์ป๊ะได้เกริ่นนำถึง “ปรากฏการณ์” ซึ่งเป็นบริบทพื้นฐานก่อน

“ปรากฏการณ์บนโลกนี้แบ่งออกเป็น 2 ปรากฏการณ์ คือ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ อย่างฝนตก น้ำท่วม เข้าใจได้ง่าย ไม่ซับซ้อน แต่อีกปรากฏการณ์หนึ่งที่ค่อนข้างซับซ้อนและเข้าใจได้ยาก คือ ปรากฏการณ์ทางสังคม เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้คน มีผู้คนเข้ามารวมกันแล้วเกิดอะไรบางอย่างขึ้น ย่อมเจอความซับซ้อนมากมาย ขึ้นอยู่กับประเด็นที่เราไปเคลื่อน ดังนั้นสิ่งที่เราทำงานอยู่ทุกวันนี้ทั้งเรื่องการศึกษา ยาเสพย์ติด สุขภาวะ คุณแม่วัยใส อุบัติภัย เป็นปรากฏการณ์ทางสังคม ซึ่งพวกเราควรจะเข้าใจสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติของปรากฏการณ์ทางสังคม ไม่อย่างนั้นเราจะทำงานโครงการไม่ได้”

ลักษณะธรรมชาติของปรากฏการณ์ทางสังคม (social phenomena) เป็นดังนี้

  • มีความหลากหลาย (diversity)
  • มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันและมีลักษณะพึ่งพาอาศัยกัน (interdependent)
  • มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ (dynamic and constantly changing)

โดยปรากฏการณ์ทางสังคม “เกิดขึ้น” ได้จาก เงื่อนไขที่เป็นสากล (universal) คือปรากฏการณ์ชนิดเดียวกัน ที่เกิดในท้องที่และเวลาที่ต่างกัน เช่น การดูแลผู้สูงอายุ ทั้งบำนาญ การออมทรัพย์ บ้านพักระยะยาว การศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ และ เงื่อนไขเฉพาะ (unique) หรือเงื่อนไขที่เกื้อหนุนให้เกิดปรากฏการณ์นั้นๆ ในบางท้องที่หรือบางเวลาเท่านั้น ตัวอย่างเช่นทุนเดิม เรื่องระบบความสัมพันธ์ เรื่องแกนนำของคนในชุมชนนั้นๆ ส่วนปัจจัยที่เกื้อหนุนให้เกิดปรากฏการณ์ทางสังคมคือ เงื่อนไขที่จำเป็น (necessary conditions) เช่น เด็กคนหนึ่งจะเรียนได้ดีหรือไม่ดี พื้นฐานมาจากระดับสติปัญญา เงื่อนไขที่พอเพียง (sufficient conditions) คือวิธีการสอนของครู ฐานะทางบ้าน การเอาใจใส่จากพ่อแม่

“จริงๆ แล้วโครงการที่เราทำอยู่เป็นเครื่องมือ เข้าไปจัดการกับปัญหาทางสังคมอะไรบางอย่างที่งานประจำไม่สามารถจัดการได้ โครงการพัฒนาไม่ใช่งานประจำ เป็นงานเฉพาะกิจ มีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุด ถ้าโครงการไหนดีมีประสิทธิภาพดีจะถูกผลักเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานประจำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

ทั้งนี้อาจารย์ป๊ะได้เน้นย้ำถึงเรื่องของ “ความรู้” เป็นสำคัญในการที่จะทำงานเชิงสังคม เพราะ “พวกเราในฐานะที่เป็นผู้จัดการโครงการ เป็นผู้ประสานงาน เราปฏิเสธความรู้เรื่องทฤษฎีไม่ได้ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม  การทำงานทางสังคมต้องใช้ความรู้ทั้งสิ้น ปัจจุบันพวกเราก็ใช้อยู่ ชุดประสบการณ์เดิมของเรา ที่จริงแล้วก็คือความรู้ชุดหนึ่งนั่นเอง”

สำหรับการทำงานเชิงสังคมไม่ว่าจะเป็นโครงการใดก็ตาม ย่อมหลีกหนีคำว่า “เครือข่าย” ไปไม่พ้น ด้วยพื้นฐานทางธรรมชาตินั้น “เครือข่าย” คือรากฐานของสังคม สะท้อนถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต เริ่มตั้งแต่ระบบในร่างกายมนุษย์อันประกอบด้วยเซลล์ ไปจนถึงข่ายใยอาหารของระบบนิเวศ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ตลอดจนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบสาธารณูปโภคด้วยเหตุนี้ “ความรู้” ในการทำงานพัฒนาสังคมอันดับแรกคือ การเข้าใจความหมายของคำว่าเครือข่าย ซึ่งหมายถึง การเชื่อมโยง การติดต่อสัมพันธ์ การติดต่อสื่อสาร ภายใต้วัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกันอย่างเป็นระบบ เป็นการเชื่อมโยงระบบย่อยให้รวมกันเข้ากลายเป็นระบบใหม่

ความแตกต่างและจุดร่วมของ ปัจเจก กลุ่ม และ เครือข่าย

  • ปัจเจก ตัวตนของแต่ละบุคคล
  • กลุ่ม เป็นการเชื่อมโยงของปัจเจกบุคคลที่มีการรวมตัวกันอย่างใกล้ชิด มีเอกลักษณ์และปรัชญาการทำงานที่ชัดเจน
  • เครือข่าย เป็นการเชื่อมโยงสายสัมพันธ์อย่างหลวมๆ ของปัจเจกบุคคล กลุ่ม องค์กร และสถาบัน โดยที่สมาชิกในเครือข่ายสามารถเข้าร่วมกิจกรรมตามความเหมาะสม ภายใต้กฎเกณฑ์หรือเป้าหมายร่วม และมีการปฏบัติโดยที่ไม่สูญเสียเอกลักษณ์และปรัชญาการทำงานขององค์กรตนเอง

สรุปเป็นคำพูดง่ายๆ ได้ว่าการทำงานเครือข่ายเพื่อสังคมมีลักษณะของ “การที่เอากลุ่มปัจเจกมากกว่าหนึ่งกลุ่มมาติดต่อสัมพันธ์กันภายใต้วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายใหม่ที่จะทำงานร่วมกัน ซึ่งสมาชิกที่อยู่ในเครือข่ายจะมาทำงานเพื่อตอบโจทย์อันนี้ แต่ตัวเองก็ยังทำงานเดิมของตัวเองอยู่ แล้วมาร่วมกันเพื่อให้เกิดงานใหม่ขึ้นมา เมื่องานของเครือข่ายบรรลุแล้ว วัตถุประสงค์บรรลุแล้ว เครือข่ายนั้นจะหายไป ยกเว้นว่ามีเรื่องใหม่ก็จะมารวมตัวกันใหม่ เครือข่ายมีวงจรชีวิตแบบนี้”

ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา แนวคิดเรื่อง “เครือข่าย” ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในแวดวงงานพัฒนาและภาคธุรกิจ ทั้งนี้อาจสืบเนื่องมาจากสาเหตุ 3 ประการคือ 1. ภาวะการแข่งขันแบบใหม่ (New competition) 2.ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีข่าวสาร (IT) 3. ความก้าวหน้าทางวิชาการที่ก่อให้เกิดเครื่องมือในการวิเคราะห์โครงสร้างสังคมในลักษณะที่เป็นเครือข่าย (เสรี พงศ์พิศ, 2548: 33-34)

ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของเครือข่ายคือ Star Alliance หรือเครือข่ายพันธมิตรสายการบินขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งก่อตั้งเมื่อ 14 พฤษภาคม 2540 ประกอบด้วย 5 สายการบินคือ แอร์แคนาดา ลุฟท์ฮันซ่า สแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์ การบินไทย และ ยูไนเต็ดแอร์ไลน์ ด้วยเหตุผลว่า “เมื่อก่อนธุรกิจต้องแข่งขันกัน แต่การบินทั่วโลกภายในหนึ่งวัน ถ้าลงทุนแต่เพียงลำพังคนเดียว มันไม่ไหว เลยเกิดแนวคิดแบบนี้ ปัจจุบันมี 25 สายการบิน วันเดียวบินได้ทั่วโลก นี่คือเครือข่าย

“การทำงานเชิงเครือข่ายจึงจำเป็นมากสำหรับการทำงาน ลองไปดูข้อเสนอจากทุกๆ โครงการที่เขาถอดบทเรียนหรือทำงานวิจัยสิ มันจะพบมาอันหนึ่งคือว่า การแก้ปัญหาที่มักประสบความสำเร็จมันใช้เครือข่ายในการขับเคลื่อน”

นอกจากความรู้ในเชิงทฤษฎีแล้ว การรู้รอบด้านและรู้เท่าทันปัญหาเกี่ยวกับโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในการทำงานเชิงสังคม อาจารย์ป๊ะอธิบายถึงเรื่องนี้ว่า

ลองนึกถึงงานที่เราทำอยู่ มีความหลากหลายใช่มั้ยคะ เอาแค่สุขภาพ ภาวะสุขภาพของคนในเมือง คนในชนบท แตกต่างกัน ของเด็ก ของผู้ใหญ่ ของคนสูงอายุ แตกต่างกัน มันมีความหลากหลาย แล้วยังมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน เราคิดว่าปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนท้องถนน เกิดเพราะคนขับไม่มีวินัยจราจรอย่างเดียวหรือเปล่า ไม่ใช่เลย มันมีหลายเงื่อนไขปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เกาะเกี่ยวกัน มีทั้งปัจจัยทางกายภาพ สภาพถนน มีทั้งปัจจัยเชิงนโยบาย ปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่นในพื้นที่ แสดงว่าเหตุปัจจัยของปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดแต่โดยลำพัง แต่มันเกาะเกี่ยวกับปรากฏการณ์อื่นๆ ด้วย ถ้าเราไม่เห็นปรากฏการณ์ที่อยู่แวดล้อม สมมติว่าแก้ปัญหาอุบัติเหตุ จะไปแก้แต่ให้ความรู้เรื่องวินัยจราจร ในขณะที่ยังมีเรื่องแสงสว่างไม่พอ สภาพการลาดเอียงของถนน ผิวถนน ที่เป็นนโยบายจากข้างบน เราก็จะแก้ปัญหาไม่สำเร็จ โครงการที่เราใส่เข้าไปก็ไม่สำเร็จ เพราะเราไม่เห็นว่าเหตุการณ์ที่เรากำลังทำอยู่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์อื่นๆ อย่างไรบ้าง ต้องมองให้ออก

งานที่เราทำอยู่ มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ใช่หรือเปล่า เช่น ปัญหาเด็กแว้นท์เมื่อห้าปีก่อนกับปัจจุบันนี้ต่างกันใช่ไหม เมื่อก่อนเด็กแว้นท์อาจจะรวมตัวกันตามถนน แต่ตอนนี้คือรวมตัวกันแล้วเอาของไปช่วยเหลือคน คำถามก็คือว่า ถ้าเหตุการณ์เปลี่ยนแล้วเรายังใช้ชุดความรู้เดิมไปจัดการ มองเด็กแว้นท์ว่าเป็นตัวก่อให้เกิดปัญหาสังคมอยู่ตลอดเวลา เราก็มองเขาในแง่ลบใช่ไหม เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะชวนให้ช่วยกันคิดก็คือว่า สิ่งที่เราทำอยู่ ที่เรียกว่าปรากฏการณ์ทางสังคมเราตามมันทันหรือเปล่า?  ยกตัวอย่าง ต้นไม้เป็นตัวสภาพปรากฏการณ์ทางสังคม ในตัวของมันเองก็มีความซับซ้อน รากยังมีทั้งรากแก้ว รากฝอย รากแขนง แล้วต้นไม้เองก็มีหลากหลายชนิด แค่ปัญหาเดียวกันอย่างที่พูดเมื่อกี้ก็มีหลากหลาย เพราะฉะนั้น ไม่มีความรู้ชุดใดที่จะใช้ได้ในทุกกรณี แม้แต่เป็นเรื่องเดียวกัน นอกจากมีความหลากหลายแล้วก็ยังเปลี่ยนแปลง ต้นไม้โตแล้วก็เริ่มร่วง ซึ่งแต่ละระยะของเหตุการณ์ต้องใช้วิธีการและเครื่องมือที่แตกต่างกัน

“ที่พูดมานี้ทั้งหมดทั้งปวงก็เพื่อให้พวกเรากลับไปคิดกับตัวงานที่เราทำอยู่ว่ามันเหมือนเดิมไหม มันอยู่ตรงไหนของวงจร กำลัง เกิดขึ้น ดำรงอยู่ เปลี่ยนแปลง หรือ ถึงจุดที่ใกล้สิ้นสุด ถ้าเราเข้าใจมันได้ จะนำไปสู่การคิดโครงการ และเครื่องมือที่จะไปจัดการกับตัวปัญหานั้นได้ถูกกับกาลเทศะมากขึ้น อันนี้เป็นความรู้เบื้องต้นสำหรับคนทำงานในทางสังคม ต้องวิเคราะห์ตัวปรากฏการณ์ของตัวเองให้ออกก่อนปรากฏการณ์หนึ่งมีมากมายหลายสาเหตุ และแต่ละสาเหตุก็มีความสำคัญไม่เท่ากัน ถ้าเราอยากทำงานสำเร็จ เราจำเป็นต้องรู้ว่าอะไรคือสาเหตุหลัก อะไรคือสาเหตุรอง ต้องวิเคราะห์ให้ได้

ส่วนข้อคิดดีๆ ที่จะช่วยให้ตระหนักถึงความสำคัญของ “การวิเคราะห์” ปัญหาที่จะนำไปสู่เป้าหมายในการทำงานรูปแบบเครือข่ายทางสังคม อาจารย์ป๊ะบอกว่า “ตัวเองชอบพูดเสมอว่าเวลาเราทำโครงการจะมีอยู่สองกรณี ก็คือ ทำโครงการเสร็จ กับ ทำโครงการแล้วสำเร็จ เสร็จกับสำเร็จไม่เหมือนกันนะคะ เสร็จคือทำทุกกิจกรรรมที่มีอยู่ในโครงการเสร็จทั้งหมด แต่สภาพปัญหายังเหมือนเดิม กับทำสำเร็จหมายความว่า ทำกิจกรรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว เป้าหมายหรือปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นหายไป หรือถูกแก้ไข เปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น ถ้าเราอยากทำงานสำเร็จ เราอาจจำเป็นต้องเหนื่อยมากขึ้นในช่วงที่เรียกว่าช่วงต้นน้ำ คือวงจรชีวิตของโครงการพัฒนาใดๆ ก็ตาม มีระยะเวลาที่สำคัญอยู่ 3 ระยะ เรียกว่า ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ หรือ ก่อนดำเนินการ ระหว่างดำเนินการ และสิ้นสุดโครงการ ช่วงก่อนดำเนินการหรือช่วงต้นน้ำเป็นช่วงที่สำคัญที่สุด จำเป็นที่สุด และเป็นช่วงที่อ่อนแอที่สุด คือช่วงวิเคราะห์ว่า ปัญหาเราคืออะไร มีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด ปัญหาเกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง ที่ผ่านมาปัญหานี้ถูกจัดการอะไรไปแล้วบ้าง ยังเหลือช่องว่างขององค์ความอะไรรู้ให้เราต้องทำอยู่ ช่วงนี้คือช่วงของการพัฒนาเอกสารข้อเสนอโครงการนั่นเอง”

ข้อแนะนำในการเขียนโครงการนั้นคือ “เวลาทำโครงการมีทักษะที่จำเป็นอยู่ 2 ทักษะในเบื้องต้น ทักษะแรกเรียกว่า Thinking Skill ทักษะที่สองเรียกว่า Writing skill สำหรับคนทำโครงการสิ่งที่มาก่อนคือ คิด คิดให้เป็นระบบก่อนแล้วค่อยเขียน เขียนใครเขียนก็ได้ แต่คิดต้องคิดให้เป็นระบบ มองแบบนี้ให้ทะลุ เพราะฉะนั้น ระบบการคิดจึงสำคัญมาก”

อาจารย์ป๊ะทิ้งท้ายในหัวข้อ “ความจำเป็นพื้นฐานในการทำงานทางสังคม” ไว้ด้วยการฝากข้อคิดที่สำคัญที่สุดสำหรับสังคมไทยในปัจจุบันนี้ ที่หากคนไทยทั้งประเทศตระหนัก ย่อมนำไปสู่การปรองดองได้อย่างงดงาม แบบที่จะเรียกว่า แก้ปัญหาที่สาเหตุหลัก หรือ แก้ปัญหาที่รากแก้ว นั่นเอง

“ตอนนี้สังคมไทยวิกฤติมาก จริงหรือเปล่า เราเป็นทุนนิยม แต่เราก็แข่งขันกันจนทำร้ายกัน เรานับถือเสรีนิยมที่ให้ความสำคัญกับปัจเจก การเจริญเติบโตของปัจเจกแต่ละปัจเจก แต่เราก็ไม่เคารพสิทธิซึ่งกันและกัน เราสนใจเรื่องความหลากหลาย แต่เราก็อยู่กับความหลากหลายไม่ได้ เพราะเราไม่เคารพสิทธิของคนอื่น เราคือสังคมที่กล่าวโทษและเกลียดชังกัน หวาดระแวงซึ่งกันและกัน แต่ที่สำคัญก็คือว่า เราทำผิดซ้ำเยอะมาก เวลาเกิดเหตุการณ์ใดๆ ก็ตาม เราชอบพูดว่า เราจำไว้เป็นบทเรียน แต่เราก็ยังทำผิดซ้ำอีก ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ระดับเล็กหรือเหตุการณ์ระดับประเทศ เราขาดการเรียนรู้ เราขาดความกล้าหาญทางจริยธรรม ใช่ไหมคะ ถ้าเรายังทำงานด้วยวิธีคิดเดิมๆ วิธีการเดิมๆ เราคิดว่าเราจะรอดมั้ย หรือว่าเราจะรอดด้วยการทำงานเป็นปีๆ ทำงานโครงการต่อโครงการ ทำให้เสร็จเพื่อหวังว่าจะได้ทำโครงการต่อไป

เครือข่าย : หลักการพื้นฐานในการสร้างและบริหารเครือข่าย

เริ่มต้นบทเรียนใหม่ด้วยการตอกย้ำถึงความสำคัญของเครือข่ายก่อน ว่า “งานเครือข่ายคืองานเชื่อมร้อยผู้คนให้เข้ามาเชื่อมร้อยงาน งานจะเชื่อมไม่ได้เลยถ้าไม่เชื่อมคนก่อน แล้วเราจะเชื่อมคนไม่ได้เลยถ้าเราไม่เข้าใจว่าเราคิดยังไง เรามีดีตรงไหน เราเป็นคนแบบไหน… เคยได้ยินไหมคะที่เขาบอกว่า ถ้าเราจะเปลี่ยนโลกได้ให้ต้องเริ่มต้นจากเปลี่ยนตัวเรา เมื่อเราเปลี่ยน ข้างนอกจะเปลี่ยนเอง โลกเปลี่ยนที่เรา

จากนั้นจึงเข้าสู่ประเด็นหลัก ว่าด้วย “ฐานคิดของเครือข่าย” ซึ่งฐานคิดเชิงระบบเชื่อว่า สรรพสิ่งต่างๆ ล้วนพึ่งพาอาศัยกันและกัน (interdependent) เชื่อมโยงต่อเนื่องกับส่วนอื่นๆ (interconnected) เป็นความหลากหลายที่ไม่สามารถแยกส่วนหนึ่งส่วนใดออกจากกันได้เด็ดขาด ทุกสิ่งมีที่มาที่ไป มีเหตุ ปัจจัย เมื่อเหตุปัจจัยเกิดขึ้นพร้อมกันอย่างเกื้อกูล ย่อมก่อให้เกิดสิ่งใหม่ และสิ่งใหม่ก็สร้างเส้นทางการเชื่อมโยงกับสิ่งเก่าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ส่วน “เครือข่าย” เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติและปรากฏการณ์ทางสังคม การก่อตัวและสภาวะเครือข่ายเป็นส่วนหนึ่งของระบบชีวิต (living organism) ที่มีรากฐานมาจากความสัมพันธ์ของระบบที่ซับซ้อน

อาจารย์ป๊ะขยายความถึงปัจจัยของฐานคิด คือ ทฤษฎีการแลกเปลี่ยน (exchange theory) แนวคิดการรวมพลัง (synergy) และ แนวคิดเรื่องทุนทางสังคม (social capital) ดังนี้

“ปัจจุบันสังคมเปลี่ยนเป็นโลกใบใหม่ มีเศรษฐกิจแบบใหม่ เมื่อก่อนเศรษฐกิจเป็นแบบสังคมเกษตรกรรม (ตอนนี้ในชนบทก็ยังมีอยู่บ้าง) ถ้าอยากได้สินค้าอะไร เราไปเจอกันแล้วเอาไปแลกเปลี่ยน เอาข้าวไปแลกเกลือ ที่มีสุภาษิต ข้าวบ้านเหนือเกลือบ้านใต้ พอมาถึงยุคอุตสาหกรรม ก็มีองค์กรมาทำหน้าที่แลกเปลี่ยนสินค้าแทนเรา นั่นคือระบบตลาด เป็นตลาดทางกายภาพ ตลาดนัด ตลาดติดแอร์ ยุคนี้ตลาดเป็นยังไง เราสามารถช้อปปิ้งออนแอร์ได้ใช่มั้ย เราซื้อขายของกลางอากาศได้หมดแล้ว ยาเสพย์ติดถูกซื้อขายผ่านไลน์ได้ ถ้าเราทำงานเรื่องยาเสพย์ติดโดยที่ไม่รู้ว่าช่องทางการซื้อขายการติดต่อกันมันเปลี่ยน มันเพิ่มช่องทางมากขึ้น แล้วมีผลกระทบมั้ย

“สังคมใหม่ เขาบอกว่าการมีไลน์ การมีโซเชียลมีเดียเราสามารถสื่อสารกับผู้คนทั่วโลกภายในเวลาไม่กี่เสี้ยววินาที ส่งไลน์เปรี้ยงทะลุกันทั่วโลกหมดเลย แต่เราไม่เคยคุยกับคนข้างบ้านเลย เราสามารถคุยกับใครก็ได้ทั่วโลกทั้งๆ ที่เราไม่รู้จักเขา แต่คนในซอยเดียวกัน บ้านติดกันถามว่าทำอาชีพอะไรเราไม่เคยรู้ สังคมในชนบทที่รู้จักกันใกล้ชิด คนไม่ค่อยกล้าทำผิดเพราะรู้จักกันหมด ทำไมคดีต่างๆ มักเกิดขึ้นในสังคมเมือง เพราะมัน blind ตัวเอง ทำอะไรก็ได้ไม่มีใครรู้จัก

“เราสามารถจะอยู่บนโลกเสมือนจริง เราสัมพันธ์กับคนมากมาย แต่สิ่งหนี่งที่เราไม่ได้เลยคือความผูกพัน เพราะเราไม่ได้เผชิญหน้า ไม่ได้คุยกัน ไม่ได้เห็นหน้ากัน มันเป็นความสัมพันธ์ที่ฉาบฉวยมาก สังคมเปลี่ยนมาก วัฒนธรรมก็เปลี่ยน เพราะฉะนั้นเมื่อทุกอย่างมันเปลี่ยน มันเร็ว มันฉาบฉวย ซับซ้อน มีตัวละครที่เข้ามายุ่งเกี่ยวมากขึ้น เวลาเราทำงานยาเสพย์ติด เราสนใจอยู่แต่ในประเทศ เราไม่สนใจองค์กรระหว่างประเทศ บริษัทข้ามชาติ ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เราจัดการกับปัญหายาเสพย์ติดไม่ทะลุหรอกค่ะ ถ้าเราไม่เห็นมัน เรื่องแบบนี้ซับซ้อนเกินกว่าที่ความรู้ของใครคนใดคนหนึ่งจะจัดการได้ งานของเราก็เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นเรื่องเครือข่ายจึงจำเป็น ฐานคิดของเครือข่าย ทุกอย่างในโลกนี้มันเชื่อมกันเป็นระบบอยู่แล้ว เครือข่ายเป็นโครงสร้างพื้นฐานของทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต มันต้องเชื่อมโยงต่อเนื่องกันภายใต้ความสัมพันธ์อะไรบางอย่าง จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ใหม่ขึ้นมา

“เครือข่ายคือรากฐานที่สำคัญของสังคม เครือข่ายเชื่อเรื่องทฤษฎีแลกเปลี่ยนที่บอกว่า win win situation เราต้องการความช่วยเหลือ ใครจะมาทำงานกับเรา ถ้าเขาไม่ได้อะไรจากเรา ไม่มีใครยอมเสียสละอยู่ตลอดเวลา การได้ไม่ได้หมายความว่าต้องได้เงินทอง มันมีการได้หลายๆ อย่าง คนทำงานเชิงสังคมเราจะพูด ได้คุณค่าทางด้านจิตใจ บางทีก็ได้รับการยอมรับ ได้เงินค่าตอบแทนบ้างกับการที่เราเสียโอกาสในการที่จะไปทำมาหากิน พวกนี้มีผลทั้งสิ้นเรื่องทฤษฎี เราจึงพบว่า สมาชิกที่หลุดออกไปจากเครือข่ายก็คือสมาชิกที่ไม่ได้รับผลประโยชน์จากเครือข่าย เขาก็กลับไปทำงาน ณ ที่ตั้งของเขา เพราะฉะนั้นเครือข่ายจึงเป็นเรื่องของทฤษฎีการแลกเปลี่ยน ถ้าเราจะจัดการกับเครือข่าย เราหวังจะให้เขามาช่วยเราแต่เพียงอย่างเดียวหรือ มันคงไม่ใช่ ถ้าเขาไม่ได้อะไร เขาก็คงไม่อยู่กับเราตลอดไป นี่คือหลักของทฤษฎีการแลกเปลี่ยน”

แนวคิดการรวมพลัง อย่างเรื่องอุบัติเหตุ ถ้าไม่มีการรวมพลัง อย่างที่พี่ป้อม (คุณศิริกุล กุลเลียบ : เครือข่ายความปลอดภัยทางถนน) ทำ มีการชวนตำรวจ ชวนโรงเรียน ชวน อบต. ชวน พม. ชวนใครต่อใครมาทำ มันมีพลังในการจัดการกับอุบัติเหตุ โรงพยาบาลสบายเลย เพราะว่ามีเคสที่เกิดจากอุบัติเหตุเข้าไปน้อย อย่างนี้เป็นต้น ลำพังพี่ป้อม ลำพังโรงพยาบาล ต่อให้เป็นโรงพยาบาลใหญ่แค่ไหน เก่งแค่ไหน มีอุปกรณ์มากมายแค่ไหนก็ไม่สามารถลดปัญหาอุบัติเหตุได้ ต้องตั้งรับอยู่แบบนั้น”

ทฤษฎีเครือข่ายเชื่อเรื่องความหลากหลาย ความหลากหลายคือสิ่งสวยงาม เพราะฉะนั้น ซูเปอร์มาร์เก็ตมักจะอยู่ได้ ร้านที่ขายของเฉพาะอย่าง เฉพาะยี่ห้อจะอยู่ไม่ค่อยได้ อาหารอย่างเดียวก็อยู่ไม่ได้ น้ำอย่างเดียวก็อยู่ไม่ได้ อย่างที่บอกว่าทุกคนเก่ง เก่งในทางของตัวเอง ถ้ารวมพลังกันจะเกิดแรงผลักดันมหาศาลมาก”

เครือข่ายเชื่อเรื่องทุนทางสังคม เชื่อเรื่องความไว้เนื้อเชื่อใจกัน เชื่อเรื่องความสัมพันธ์ของผู้คน ดึงเอาความไว้เนื้อเชื่อใจกันมาช่วยกันในการทำงาน”

องค์ประกอบของเครือข่าย

  • สมาชิกของเครือข่าย
  • การมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน
  • การมีผลประโยชน์และความสนใจร่วมกัน/การให้ประโยชน์ต่างตอบแทน
  • กระบวนการเสริมสร้างซึ่งกันและกัน
  • การพึ่งอิงร่วมกัน
  • การปฏิสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยน/การทำกิจกรรมร่วมกัน
  • ระบบความสัมพันธ์และการสื่อสาร

การแบ่งประเภทของเครือข่าย

ก. ลักษณะความสัมพันธ์ทางสังคม

  • เครือข่ายแนวนอน (Horizontal network) เป็นเครือข่ายที่ฐานะและสถานภาพของคนในกลุ่มที่เข้ามาร่วมกัน มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน การแลกเปลี่ยนทรัพย์สินหรือบริการต่างๆ มีลักษณะช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัย เช่น เครือข่ายเกษตรกร เครือข่ายครูเศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น
  • เครือข่ายแนวตั้ง (Vertical Network) มีลักษณะไม่เท่าเที่ยมกัน จะมีลำดับชั้นเรียงจากสูงไปหาต่ำ โดยฝ่ายที่อยู่ในลำดับสูงจะมีฐานะเป็นผู้อุปถัมภ์ เมื่อต้องการความร่วมมือบางอย่างก็สามารถระดมได้จากลูกข่ายผู้ใต้อุปถัมภ์ของตน โดยผู้ใต้อุปถัมภ์สามารถขอทรัพย์สินเงินทองหรือบริการบางอย่างที่ตนขาดแคลนจากผู้อุปถัมภ์ได้ เช่น เครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานรัฐบาลกับชาวบ้าน เครือข่ายทางการเมือง นายจ้างกับลูกจ้าง เป็นต้น

ข. ลักษณะวิชาชีพของสมาชิก เช่น เครือข่ายพยาบาล เครือข่ายทันตแพทย์ เครือข่ายครู เครือข่ายเกษตรกร

ค. โครงสร้างหน้าที่ เช่น เครือข่ายภาครัฐ เครือข่ายภาคธุรกิจเอกชน เครือข่ายภาคประชาชน ภาคประชาสังคม

ง. ลักษณะพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ หรือ พื้นที่ทางเขตการปกครอง

“การเกิดขึ้นของเครือข่ายหรือการเกิดขึ้นของชุมชนใดๆ ก็ตามจะมีสองลักษณะพื้นฐาน คือ by crisis กับ by design สำหรับ by crisis คือมีปัญหาเกิดขึ้นแล้วจัดการไม่ได้โดยคนคนเดียว ต้องรวมตัวกันให้เกิดพลัง by design คือ ออกแบบก่อน ปัญหายังไม่เกิด แต่เรารู้ว่าเราต้องทำงานแบบนี้ เช่นเรารู้ว่าจะทำงานยาเสพย์ติด มีคนเหล่านี้ มีหน่วยงานเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ เราจะสร้างเขามาเป็นเครือข่าย ก็ค่อยๆ ออกแบบ ว่าเราจะเข้าไปคุยแต่ละพื้นที่ แต่ละกลุ่มเป้าหมายอย่างไร จะใช้วิธีการแบบไหน หรือบางทีเขาก็เรียกว่าเป็นเครือข่ายตามธรรมชาติ เกิดขึ้นเอง (by crisis) บางทีเป็นเครือข่ายที่เป็นการจัดตั้ง (by design) หรือจะผสมผสานก็ได้ คือมีกลุ่มต่างๆ ก่อกันอยู่แล้ว เราลงไปจัดการให้เป็นระบบก็เรียกว่าเครือข่ายผสมผสานแบบธรรมชาติกับแบบจัดตั้งเข้าด้วยกัน”

การจะแบ่งเครือข่ายเป็นประเภทไหนไม่สำคัญเท่า “การรู้จักลักษณะเครือข่ายที่เราทำงานด้วยจะนำไปสู่การออกแบบในการที่จะติดต่อสื่อสารในการที่จะสร้างเครือข่ายให้สอดคล้องกับลักษณะธรรมชาติของคนที่อยู่ในยุคนั้นๆ กลุ่มเป้าหมายที่เราทำงานด้วย”

ขั้นตอนในการสร้างเครือข่าย

  • เตรียมกลุ่มหรือการก่อรูปเครือข่าย
  • สร้างพันธกรณีร่วมกัน
  • พัฒนาความสัมพันธ์เป็นกลุ่มกิจกรรม
  • การเรียนรู้จากปฏิบัติการร่วมกัน
  • ขยายกิจกรรมหรือขยายกลุ่ม

การสร้างเครือข่ายให้เติบโตตามเจตนารมย์นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การรักษาเครือข่ายให้ดำรงอยู่จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง

“ความหลากหลายเป็นสิ่งที่สวยงาม แต่เราต้องจัดการกับความขัดแย้งในความหลากหลายให้ได้ การส่งเสริมกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการสร้างความเข้มแข็ง เพราะสมาชิกมีความรู้ไม่เท่ากัน คนที่รู้น้อยกว่าอาจหลุดออกไป การสร้างระบบฐานข้อมูล Social Mapping การรู้ว่าใครทำอะไรอยู่ตรงไหน มีความเชี่ยวชาญอย่างไร การมีพันธะสัญญา การมีใจต่อกัน เพราะการทำงานเครือข่ายเป็นงานใหญ่งานยาก ถ้าใจไม่ผูกไว้ต่อกันฝ่าฟันยากมาก การพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา การเสริมพลังการทำงาน เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยเงื่อนไขที่ถูกถอดมาจากบทเรียน ความลื่นไหลของการสื่อสารภายในเครือข่าย เราพบอยู่ในหลายข่ายว่า สมาชิกในข่ายหลุดไปเพราะไม่รู้ความก้าวหน้าของเครือข่าย ใครมาทำอะไรก็ไม่ได้มาด้วย ขบวนการสื่อสารภายในของเครือข่ายเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ต้องมีการสร้างเงื่อนไขให้มีการติดต่อสื่อสารอยู่ตลอดเวลา บางข่ายจะเจอกันปีละครั้งสองครั้งแม้ว่าจะไม่มีงาน จะมาคุยกันเพื่อรักษาความสัมพันธ์ จะมีฮับเพื่อเป็นศูนย์ประสานงาน และจำเป็นต้องมีผู้จัดการเครือข่าย เหล่านี้คือเงื่อนไข ปัจจัยที่จะให้เครือข่ายของเรามั่นคง เข้มแข็ง ยั่งยืน”

จาก “กรณีตัวอย่างเครือข่ายงานพัฒนาอย่างบูรณาการเชิงพื้นที่ภาคกลาง” ได้แก่

  • ชุมชนบ้านเปร็ดใน จังหวัดตราด : จากปัญหาการพัฒนากระแสหลักที่เข้ามาในหมู่บ้าน และการที่เอกชนได้สัมปทานป่าชายเลนรวมทั้งการส่งเสริมของภาครัฐในการเลี้ยงกุ้ง ทำให้เกิดรุกล้ำทำลายสิ่งแวดล้อมที่กระทบการทำกินของชาวบ้านซึ่งอยู่กับวิถีธรรมชาติอย่างรุนแรง ชาวบ้านเคยลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านแต่ไม่เป็นผล จนกระทั่งปี พ.ศ. 2538 พระอาจารย์สุบิน ปณีโต เผยแพร่แนวคิดเรื่อง “กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เพื่อพัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต” ส่งเสริมให้คนในชุมชนมีการรวมตัวและการสร้างระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง จึงเกิดการรวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่มต่างๆ และประสานเป็นเครือข่าย ที่ช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนและพัฒนาทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขภาวะ ทำให้ชุมชนเข้มแข็งและชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขสอดคล้องกับธรรมชาติและยุคสมัยใหม่
  • กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เพื่อพัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิต จังหวัดตราด : เริ่มต้นเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2533 จากการที่พระอาจารย์สุบิน ปณีโตได้ศึกษาแนวคิดวิธีการของกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ของครูชบ ยอดแก้ว จังหวัดสงขลา และนำมาเผยแพร่ในจังหวัดตราด เป็นกลุ่มองค์กรการเงินชุมชนในรูปแบบที่ช่วยให้ชาวบ้านมีความมั่นคงทางการเงินและมีเงินทุนหมุนเวียนในการทำกิน โดยเชื่อมโยงการดำเนินการกับกลุ่มต่างๆ มีการประสานงานจากแกนกลางเกิดเป็นเครือข่ายทางสังคม และต่อยอดโครงการไปสู่ความมั่นคงในชีวิตความเป็นอยู่อย่างครบวงจร
  • ชมรมเรารักแม่น้ำท่าจีน จังหวัดนครปฐม : เป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำในลุ่มน้ำท่าจีนที่มีความยาว 325 กิโลเมตร ไหลผ่าน 4 จังหวัด ต้นแม่น้ำอยู่ที่จังหวัดชัยนาทชื่อ “แม่น้ำมะขามเฒ่า” ผ่านจังหวัดสุพรรณบุรี ชื่อ “แม่น้ำสุพรรณบุรี” ผ่านจังหวัดนครปฐมเรียก “แม่น้ำนครไชยศรี” จนไปสิ้นสุดที่จังหวัดสมุทรสาคร คือ “แม่น้ำท่าจีน” พบว่าเกิดการเน่าเสียด้วยสาเหตุจากการทำเกษตรกรรมทั้งทำนาไร่ เลี้ยงสัตว์ และอุตสาหกรรม จนคนปลายน้ำอย่างชาวสมุทรสาครต้องแบกรับผลกระทบหนักที่สุด จนเกิดการรวมกลุ่มทุกภาคส่วนทั้ง 4 จังหวัดการแก้ไขปัญหาจึงได้ผลในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

จากการมีส่วนร่วมและถอดบทเรียนกรณีศึกษาเหล่านี้ อาจารย์ป๊ะได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมฝากไว้เป็นการส่งท้ายการอบรมครั้งนี้

“อีกเรื่องคือ ศักยภาพของแกนนำก็มีความสำคัญและจำเป็นมาก กลุ่มรักแม่น้ำท่าจีนกับกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เกิดจากการทำงานของชนชั้นกลางในเมืองที่มีความเสียสละ ขณะบ้านเกร็ดในเกิดจากผู้นำชุมชนชาวบ้าน คนเหล่านี้มีลักษณะร่วมบางอย่าง มีความรู้ มีความสามารถ มีประสบการณ์ มีหัวใจที่เสียสละ นี่เป็นคุณสมบัติเบื้องต้นที่พวกเราต้องรู้และต้องมีในการทำงาน

“เวลาที่จะเสนอเครือข่าย ต้องถอดบทเรียน ข้อเสนอจะเกี่ยวกับการสร้างผู้นำใหม่ การพัฒนาระบบฐานข้อมูล การติดต่อสื่อสารภายในเครือข่าย เป็นตัวอย่างของเครือข่ายที่ประสบความสำเร็จและมีชีวิตยืนยาวมาก จะเห็นได้ว่าเขาไม่ได้ทำงานเดิม เขาจะยกระดับการทำงาน แต่ทุกสิ่งที่เขาทำจะย้อนกลับไปช่วยจัดการปัญหาที่เป็นต้นตอ มันบอกว่าทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมด ปัญหาที่เราเจอมันเกิดจากเงื่อนไขทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม เพียงแต่ว่าเราจะเริ่มต้นกับมันตรงไหน บางคนเริ่มต้นที่สุขภาพก่อน แล้วเชื่อมโยงไปมิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม บางคนเริ่มต้นจากสิ่งแวดล้อม แล้วเชื่อมโยงไปมิติเศรษฐกิจ ไปมิติการเมือง จุดเริ่มต้นก็ขึ้นอยู่กับความถนัดของเครือข่ายเราแล้วค่อยยกระดับ เครือข่ายมีความจำเป็นในการทำงานเชิงสังคมมาก”

 

รศ. ดร. ประภาพรรณ อุ่นอบ

อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประชากรศึกษา ระเบียบวิธีวิจัย และการติดตามประเมินผลโครงการ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

การศึกษา : ปริญญาเอกด้านจิตวิทยาและประชากรศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

งานวิชาการ : การสร้างองค์ความรู้ท้องถิ่น  กลไกการบริหารจัดการโครงการสาธารณะ การจัดการความรู้ภาคประชาชน การสร้างกระบวนการและพัฒนาเครือข่าย สิทธิมนุษยชนในระดับพื้นที่ รวมทั้งเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ในกลไกการเรียนรู้สำคัญของโครงการหรือชุมชนต่างๆ ใน “โรงเรียนชาวนา” ตลอดจนศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับกรณีศึกษาต่างๆ ในเรื่องของการขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่หรือชุมชนน่าอยู่ และมีส่วนร่วมกับ สสส. ในการประเมินผลภายในให้โครงการต่าง ๆ

Last Updated (Tuesday, 27 October 2015 14:36)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *