วัดผลความยั่งยืนด้วย Return on Sustainability

วัดผลความยั่งยืนด้วย Return on Sustainability

โดยดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

ก่อนอื่น ต้องขอแสดงความยินดีกับ 20 บริษัทจดทะเบียนไทย ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าอยู่ในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) ประจำปี 2562 ได้แก่ ADVANC, AOT, BANPU, BTS, CPALL, CPF, CPN, HMPRO, IRPC, IVL, KBANK, MINT, PTT, PTTEP, PTTGC, SCB, SCC, TOP, TRUE และ TU

 

ในปีนี้ มีบริษัทไทยที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประเมินจำนวน 36 แห่ง มีบริษัทที่ตอบรับเข้าร่วมการประเมิน จำนวน 28 แห่ง และมีบริษัทที่ไม่ได้ตอบรับเข้าร่วมการประเมินอยู่ 8 แห่ง หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22

ทั้งนี้ การได้เข้าเป็นสมาชิกในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ จะพิจารณาจากข้อมูลที่บริษัทตอบแบบสอบถามในด้านความยั่งยืนที่บริษัทดำเนินการ ซึ่งหมายความว่า ปัจจัยสำคัญ 2 ส่วนที่มีผลต่อการประเมิน คือ ผลงานด้านความยั่งยืนที่โดดเด่นตามที่ได้ดำเนินการ กับการจัดทำข้อมูลที่ตอบแบบสอบถามได้อย่างตรงจุดตามเกณฑ์ที่ผู้ประเมินตั้งไว้ โดยทั้งสองปัจจัย อาจจะมีสหสัมพันธ์ (Correlation) ที่มากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับความเที่ยงตรงในการนำเสนอข้อมูลของบริษัทที่เข้าร่วมรับการประเมิน และเกณฑ์การประเมินที่เหมาะสมต่อการวัดผลด้านความยั่งยืนของหน่วยงานผู้ประเมิน ที่ครอบคลุมประเด็นความยั่งยืนที่เป็นสาระสำคัญ (Material Topics) และสอดคล้องกับลักษณะของธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรม

สำหรับบริษัทส่วนใหญ่ ที่มิได้รับเชิญให้เข้าร่วมรับการประเมิน อันเนื่องมาจากเกณฑ์เชิงปริมาณ คือ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ยังสามารถที่จะพัฒนายกระดับการดำเนินงานด้านความยั่งยืนด้วยตนเอง โดยนำเอาเกณฑ์เชิงคุณภาพ คือ ประเด็นความยั่งยืนที่เป็นสาระสำคัญของกิจการและสอดคล้องกับบริบทของอุตสาหกรรมที่ตนสังกัด มาใช้วัดผลและเปรียบเทียบสมรรถนะการดำเนินงาน (Benchmarking) กับองค์กรข้างเคียง หรือกับบรรทัดฐาน (Norm) ในอุตสาหกรรม


หนึ่งในเครื่องมือที่แนะนำ คือ Value Driver Model ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยหน่วยงาน UN Global Compact และ UN-supported Principles for Responsible Investment (PRI) สำหรับสะท้อนคุณค่าแห่งความยั่งยืนสู่ตัววัดทางการเงินของกิจการ จากการดำเนินงานเรื่องความยั่งยืนใน 3 มิติ ได้แก่ การเติบโต (Growth) ผลิตภาพ (Productivity) และการจัดการความเสี่ยง (Risk Management)

มิติการเติบโต (Growth) ในรูปของรายได้ที่เกิดจากการใช้ประเด็นความยั่งยืนให้เป็นประโยชน์ หรือ Sustainability-Growth (S/G) มีองค์ประกอบที่ควรพิจารณาใน 4 ด้าน ได้แก่

•การขยายส่วนแบ่งตลาด จากอุปสงค์ต่อตัวผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงความยั่งยืนเพิ่มขึ้น
•การได้มาซึ่งยอดขายของลูกค้ากลุ่มใหม่หรือต่างภูมิภาค โดยอาศัยตราสินค้าและชื่อเสียงจากการเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงความยั่งยืน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
•การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่นำเรื่องความยั่งยืนมาใช้ให้เป็นประโยชน์อย่างมีนวัตกรรม ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ลดผลเชิงลบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ไม่พึงปรารถนา และ/หรือ เพิ่มผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่พึงปรารถนา
•การนำแผนและยุทธศาสตร์ระยะยาวไปปฏิบัติให้เกิดผล ในแนวทางที่ผู้ลงทุนต้องการ เกิดเป็นการเติบโตจากการนำเรื่องความยั่งยืนมาใช้ให้เป็นประโยชน์
มิติผลิตภาพ (Productivity) ที่เกิดจากการขับเคลื่อนด้วยประเด็นความยั่งยืน ผ่านทางตัวบ่งชี้การดำเนินงานหลักซึ่งกิจการใช้วัดผลลัพธ์ทางการเงิน หรือ Sustainability-Productivity (S/P) มีองค์ประกอบที่ควรพิจารณาใน 3 ด้าน ได้แก่

•ประสิทธิภาพการดำเนินงาน ที่ก่อให้เกิดการประหยัดต้นทุน และ/หรือค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงได้ จากการปรับปรุงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้ดีขึ้นจากเดิม การลดของเสีย และ/หรือการหาทางเลือกในการใช้วัสดุให้ดีขึ้น เพื่อต้นทุนและผลกระทบที่เกิดขึ้น
•การบริหารทุนมนุษย์ ที่ก่อให้เกิดการลดค่าจ่ายในการเฟ้นหาและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถโดดเด่นให้กับกิจการ จากการมีข้อยึดมั่นต่อความยั่งยืนและคุณค่าอันเป็นที่รับรู้ในหมู่พนักงาน เช่นเดียวกับการเพิ่มผลิตภาพของแรงงาน ด้วยการฝึกอบรมทั้งด้านทักษะและความปลอดภัย รวมถึงสภาพแวดล้อมการทำงานที่เท่าเทียมระหว่างหญิงและชาย
•การปรับปรุงส่วนต่างระหว่างราคาขายกับต้นทุน ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งระดับราคาและปริมาณยอดขาย ในกลุ่มลูกค้าที่ให้น้ำหนักในเรื่องคุณค่าจากผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงความยั่งยืน
มิติการจัดการความเสี่ยง (Risk Management) ที่เกี่ยวเนื่องกับความยั่งยืน ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อผลประกอบการขององค์กรอย่างมีนัยสำคัญ หรือ Sustainability-Risk (S/R) มีปัจจัยความเสี่ยงที่ควรพิจารณาดำเนินการและติดตาม ประกอบด้วย

•ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและการดำเนินงาน เป็นการจำกัดความเสี่ยงและความชะงักงันในธุรกิจ ที่อาจเกิดจากการระงับ/ยกเลิกใบอนุญาต หรือการเพิกถอนฉันทานุมัติจากสังคมหรือชุมชนที่อยู่รายรอบสถานประกอบการ (License to Operate) ด้วยการลดระดับการก่อผลกระทบที่ก่อวิกฤตทางสิ่งแวดล้อม และ/หรือการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัด การลดการปล่อยมลอากาศและสารพิษที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพและระบบนิเวศ รวมถึงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการละเมิดกฎระเบียบ การลงโทษและบทปรับทางกฎหมาย ตลอดจนการเพิ่มระดับและการเข้าร่วมเป็นภาคีในการดำเนินงานตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน การผ่านการสอบทาน และการได้รับการรับรองที่เกี่ยวข้อง
•ความเสี่ยงในสายอุปทาน เป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นด้วยการประเมิน การสอบทาน และ/หรือการได้รับการรับรองว่าผู้ส่งมอบ (Suppliers) มีความน่าเชื่อถือ มีผลิตภัณฑ์และบริการที่ผลิตและส่งมอบอย่างรับผิดชอบ ที่สอดคล้องกับนโยบายของกิจการ เป็นไปตามประมวลอุตสาหกรรม และมาตรฐานระหว่างประเทศ
•ความเสี่ยงด้านชื่อเสียง เป็นการลดโอกาสเสี่ยงที่มีต่อชื่อเสียง ซึ่งมาจากบทปรับ คำตัดสินทางกฎหมายที่ไม่เป็นคุณ การคว่ำบาตร การประท้วงจากสาธารณชน และ/หรือการติดตามตรวจสอบจากสื่อมวลชน ด้วยการปฏิบัติตามนโยบายและวิธีดำเนินการอย่างเคร่งครัด เพื่อจำกัดความเสี่ยงภัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
องค์ประกอบหรือปัจจัยความยั่งยืนในมิติการเติบโต S/G มิติผลิตภาพ S/P และมิติการจัดการความเสี่ยง S/R เมื่อพิจารณาร่วมกัน จะสามารถคำนวณเพื่อหาผลตอบแทนจากความยั่งยืน หรือ Return on Sustainability ในรูปของตัวเลขและตัวบ่งชี้การดำเนินงาน ซึ่งกิจการใช้วัดผลลัพธ์ทางการเงินได้

เครื่องมือ Value Driver Model นี้ เปิดทางให้องค์กรสามารถแปลงการรับรู้ประโยชน์ (Recognized Benefit) ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า เป็นการรับประโยชน์ (Realized Benefit) จากการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน ให้เกิดขึ้นภายในรอบการดำเนินงานที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น

ทำให้ช่วยลดข้อจำกัดในการดำเนินการเรื่องความยั่งยืน ที่มักอ้างว่าต้องรอหรือคาดหวังผลที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว มาเป็นการรับรู้ผลในระยะเวลาที่กรรมการบริษัทที่ได้รับมอบหมายหรือผู้ที่รับผิดชอบ ยังคงอยู่ในตำแหน่ง ไม่ได้พ้นวาระไปแล้ว เปิดโอกาสให้กรรมการและผู้บริหารมืออาชีพที่ถูกจ้างเข้ามาดูแลรับผิดชอบงานเรื่องความยั่งยืน สามารถได้รับการพิจารณาค่าตอบแทนที่ผูกอยู่กับผลงานด้านความยั่งยืนที่ได้รับมอบหมายอีกทางหนึ่งด้วย

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ประธานสถาบันไทยพัฒน์

ที่มา https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9620000090428

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *