กรุงเทพฯ กับปัญหาขยะล้นเมือง

กรุงเทพฯ กับปัญหาขยะล้นเมือง

หากจะอธิบายให้เห็นภาพว่าปริมาณขยะในกรุงเทพฯ มีมากเพียงใด ก็เทียบได้กับช้าง 2,105 ตัวบุกเข้ามาในกรุงเทพฯ ทุกวัน ตอกย้ำว่ากรุงเทพมหานคร ยังไม่สามารถลดปริมาณขยะได้ตามเป้าหมาย และคาดว่าปี 2573 ขยะจะเพิ่มเป็น 1.5 ตันต่อวัน

คนกรุงสร้างขยะมากเป็นประวัติการณ์
กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีปริมาณขยะมูลฝอยเกิดขึ้นต่อวันมากที่สุดของประเทศไทย จากข้อมูลปริมาณขยะมูลฝอย โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ระบุว่าในปีงบประมาณ 2561 (ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 – เดือนเมษายน 2561) จัดเก็บขยะมูลฝอย 2.23 ล้านตัน เฉลี่ยวันละ 10,525 ตัน นับว่าสูงที่สุดในรอบ 8 ปีเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งปริมาณขยะใน กทม. มีแนวโน้มมากขึ้น เนื่องมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวของเมืองในเขตชั้นนอกและชั้นใน โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้เส้นทางรถไฟฟ้า และการเพิ่มจำนวนของผู้คนที่เข้ามาทำงานไปจนถึงนักท่องเที่ยว

โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คาดการณ์ว่าในปี 2559 คนกรุงเทพฯ ผลิตขยะเฉลี่ยคนละ 1.2 กก./วัน และในปี 2573 จะผลิตขยะรวมกัน 15,029 ตัน/วัน ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อความต้องการใช้ทรัพยากรและงบประมาณที่มากขึ้น

อนาคตเมืองปลอดขยะ?
ในขณะที่เป็นช่วงที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดการขยะ โดยประกาศให้การจัดการขยะเป็นวาระแห่งชาติ และประกาศโรดแมปการจัดการขยะและของเสียอันตราย ในแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ และมีแผนปฏิบัติการประเทศไทยไร้ขยะ ซึ่ง กทม. ได้วางแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร 20 ปี (ปี 2556 – 2575) ที่มาจากการระดมความคิดของประชาชนทุกภาคส่วนในสังคม ด้วยแนวคิดขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste Management) โดยนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) และทำให้ขยะเหลือน้อยที่สุดและกำจัดที่เหลือ (Residue) ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิผล โดยตั้งเป้าหมายชัดเจนว่า ภายในปี 2575 ต้องลดขยะที่ต้องกำจัดลงให้ได้ 20% จากปีฐาน 2556 ที่มีปริมาณขยะเฉลี่ย 9,963 ตัน/วัน

ปัจจุบัน กทม. กำลังอยู่ในแผนบริหารจัดการขยะมูลฝอย ปี 2558 – 2562 โดยภายในปี 2562 ต้องลดปริมาณขยะลง 7% อีกทั้งรวบรวมขยะอันตรายได้เพิ่มขึ้น 30% และเพิ่มเทคโนโลยีกำจัดขยะมูลฝอย เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 30% ของปริมาณขยะมูลฝอยที่จัดเก็บได้ปี 2556 โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ต้นทางที่จะส่งเสริมการจัดการขยะในกลุ่มประชารัฐ 14 กลุ่มเป้าหมาย 33,167 แห่ง กลางทางเพื่อเก็บขนมูลฝอยเพื่อนำไปกำจัด และรณรงค์ให้ประชาชนทิ้งขยะให้เป็นที่ และปลายทางคือการนำไปกำจัด

จากรายงานการประเมินผลการดำเนินการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยของ กทม. ช่วงปี 2557 – 2560 โดยคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พบว่า กรุงเทพมหานคร ยังไม่สามารถลดปริมาณขยะได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากปริมาณขยะมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2560 เพิ่มขึ้นถึง 5.65% จากปี 2556 อีกทั้งการคัดแยกวัสดุ ประเภทนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycling) เช่น แก้ว กระดาษ โลหะ พลาสติก เป็นต้น ยังคงเป็นการคัดแยกอย่างไม่เป็นทางการ โดยธุรกิจรีไซเคิลเป็นผู้รวบรวมวัสดุ เพื่อนำกลับสู่กระบวนการผลิตมาใช้ใหม่ทดแทนวัตถุดิบการผลิตสินค้าที่มาจากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นระบบที่ไม่เป็นทางการ และการคัดแยกจึงขึ้นอยู่กับความสมัครใจของประชาชน ทำให้การคัดแยกวัสดุรีไซเคิลออกจากขยะทั่วไปยังไม่เกิดผลเท่าที่ควร เนื่องจากพบว่ามีขยะรีไซเคิลถูกทิ้งรวมไปกับขยะทั่วไป 10-15% ของขยะทั่วไป รวมทั้งประชาชนยังคงทิ้งขยะไม่ตรงตามวันเวลาและจุดที่กำหนด ส่งผลให้กระบวนการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยของ กทม. จึงทำได้ยาก ยังไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วาระระดับโลกที่ต้องช่วยกัน
ในวันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้ ได้มีการประกาศสโลแกนว่า ต่อสู้กับขยะพลาสติก: ถ้านำกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้ ก็ปฏิเสธมัน (Beat Plastic Pollution If You Can’t Reuse It, Refuse It) ซึ่งประเด็นขยะพลาสติกนับเป็นปัญหาใหญ่ที่ทั่วโลกต่างมุ่งหาทางแก้ไข ทั้งด้วยการรณรงค์ลด ละ เลิกใช้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก โดยปี 2560 องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทรเป็นวิกฤตใหญ่ของโลก จากสถิติที่ประมาณการกันว่าพบขยะที่เป็นถุงพลาสติก 5 แสนล้านใบ/ปี และเกินกว่าครึ่งลอยอยู่ในทะเล ทำให้เป็นต้นเหตุให้สัตว์น้ำต้องตายกว่า 1 ล้านตัว/ปี อย่างกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับวาฬนำร่องครีบสั้น ที่เกยตื้นบริเวณปากคลองนาทับ จ.สงขลา และได้ตายไป ก็พบขยะพลาสติกในกระเพาะอาหารกว่า 80 ชิ้น ไม่เพียงเท่านั้นยังตกค้างและเข้าสู่ระบบห่วงโซ่อาหาร และท้ายที่สุดก็ย้อนกลับมาที่มนุษย์

ขณะที่หลายประเทศได้มีการออกกฎหมายห้ามใช้ไปจนถึงผลิตพลาสติกแล้ว เช่นที่ประเทศเคนย่า ที่มีกฎหมายห้ามผลิต ขาย และซื้อถุงพลาสติกทุกประเภท ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุก 4 ปี และปรับเงินสูงสุด 1.3 ล้านบาท ซึ่งนับว่ารุนแรงที่สุดในโลก ด้านสหภาพยุโรป (อียู) เสนอห้ามใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่ว่าจะเป็น หลอดพลาสติก ที่คนเครื่องดื่ม มีด-ส้อมพลาสติก ฯลฯ ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 3.4 ตัน ป้องกันความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมเป็นมูลค่า 8 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ยังต้องรอมติเห็นชอบจากชาติสมาชิก 28 ประเทศก่อน ส่วนในเอเชียเริ่มมีการห้ามผู้ประกอบการแถมถุงพลาสติกกับลูกค้า และเก็บภาษีถุงพลาสติกแล้ว อย่างประเทศจีน ฮ่องกง อินเดีย บังคลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมถึงเมียนมา

ไทยขยับตัวลดใช้ถุงพลาสติก
เมื่อมองกลับมาที่ไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีขยะพลาสติกไหลลงสู่ทะเลกว่า 1 ล้านตัน มากจนติดอันดับ 6 ของโลก อีกทั้งคนกรุงเทพฯ ก่อขยะพลาสติกถึงวันละ 80 ล้านใบ แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายมาบังคับใช้อย่างจริงจัง ทั้งนี้ ภาครัฐและเอกชนหลายแห่งได้เริ่มขยับตัวเพื่อลดความรุนแรงจากปัญหาขยะพลาสติกลงบ้างแล้ว อย่างเช่น กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับหน่วยงานในอุตสาหกรรมน้ำดื่มไทย โดยมีน้ำดื่มบรรจุขวด 16 ยี่ห้อได้เลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Cap Seal) ต้นตอของขยะพลาสติกกว่า 2,600 ล้านชิ้น คิดเป็นน้ำหนัก 520 ตัน ซึ่งกระจัดกระจายลงในสิ่งแวดล้อมทั้งบนบกและทะเล และยังไปอุดตันตามท่อระบายน้ำ ยากต่อการจัดเก็บและไม่คุ้มทุนในการนำกลับมารีไซเคิล ส่วนกรมการแพทย์ ได้สำรวจพบว่าหน่วยงานในสังกัดมีการใช้ถุงพลาสติกมากถึง 9 ล้านใบ จึงเตรียมเลิกใช้ถุงพลาสติกใส่ยาในสถาบันและโรงพยาบาลในสังกัดทั้ง 30 แห่ง พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนนำถุงผ้ามาใส่ยากลับบ้าน โดยจะเริ่มในเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป

ด้านสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ประกาศงดใช้โฟมและพลาสติก ไม่นำเข้ามาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ 154 แห่ง และสวนสัตว์ทั่วประเทศ 7 แห่ง ซึ่งเบื้องต้นได้รณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ผู้ประกอบการ รวมถึงนักท่องเที่ยว ให้เข้าใจมาตรการประมาณ 1 – 2 เดือน โดยขอทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดขยะ หากพบเจอก็ช่วยกันติดมือนำกลับไปด้วย ก่อนจะมีการประกาศเลิกใช้อย่างจริงจังต่อไป รวมถึง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เป็นอีกหน่วยงานที่ประกาศเลิกใช้โฟม ลดใช้ถุงพลาสติกในทุกกิจกรรมบริเวณพื้นที่ของกรม โดยเฉพาะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use Plastics) ไม่ว่าจะเป็นแก้วพลาสติก หลอดพลาสติก ถุงพลาสติก เพื่อร่วมลดการสร้างขยะสู่ทะเล ซึ่งถือฤกษ์ดีเดย์ไปเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันทะเลโลก (World Ocean Day)

ขณะเดียวกันภาคเอกชนที่ขยับตัวในการลดใช้ถุงพลาสติกอย่างต่อเนื่อง อย่างเทสโก้ โลตัส ได้ริเริ่มให้ผู้ใช้บริการลดใช้ถุงพลาสติผ่านโครงการภูมิใจไม่ใช้ถุง มาตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งสามารถลดถุงพลาสติกไปแล้วกว่า 100 ล้านใบ ส่วนเซเว่น อีเลฟเว่น ได้รณรงค์ผ่านโครงการคิดถุ๊ง คิดถุง ตั้งแต่ปี 2555 ผ่านแนวคิดซื้อของเล็กไม่รับถุงพลาสติก อีกทั้งยังได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกว่า 20 แห่งทั่วประเทศในการลด ละ เลิก ใช้ถุงพลาสติก ซึ่งสามารถลดการใช้ได้กว่า 12 ล้านใบในปี 2560 และปีนี้ยังขยายไปยังพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ มุ่งรณรงค์ในทุกสาขาที่ตั้งอยู่บนเกาะ โดยได้นำเริ่มนำร่องที่เกาะลันตา จ.กระบี่ ขณะที่อิเกีย เตรียมจะยุติการจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติก ประเภทใช้แล้วทิ้ง ได้แก่ หลอดดูด ถุงใส่อาหารแช่แข็ง และถุงทำน้ำแข็ง ในสโตร์อิเกียทั่วโลก ซึ่งรวมถึงในไทย ภายในวันที่ 1 มกราคม 2563

ทั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมปลอดขยะ (Zero Waste) หนึ่งในเป้าหมายซึ่งได้ถูกบรรจุในร่างแผนการปฏิรูปประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือการนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 30% ของปริมาณขยะทั่วประเทศภายในปี 2565 ซึ่งปัจจุบันมีการนำกลับมาใช้ประมาณ 5.81 ล้านตัน หรือ 21% โดยมีขยะรีไซเคิลมากที่สุดถึง 89.5% ทำให้เห็นว่าการรณรงค์และปลูกจิตสำนึกในการคัดแยกขยะประสบผลสำเร็จในระดับหนึ่ง

ในส่วนขยะจากขวดแก้ว ถือเป็นอีกชนิดที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยคุณศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) (BGC) ผู้  ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วรายใหญ่ของไทย ได้เปิดเผยว่า แก้วเป็นวัตถุดิบที่นำกลับมาผลิตใหม่ได้ 100% แต่ความสามารถในการจัดเก็บขวดแก้วและเศษแก้วในไทยเพื่อนำกลับมาผลิตใหม่ทำได้เพียง 60-70% เท่านั้น ทำให้ต้องมีการนำเข้าเศษแก้วจากต่างประเทศ ซึ่งบีจีซีพยายามผลักดันให้นำกลับมาได้ 90% โดยกำลังศึกษาเกี่ยวกับการต้ั้งจุดเก็บขวดแก้วใช้แล้วตามจุดต่างๆ ยกตัวอย่างที่เยอรมนีมีการตั้งจุดเก็บขวดในซูเปอร์มาร์เก็ต ทำให้นำขวดแก้วกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% ส่วนเศษแก้วปัจจุบันมีราคาเฉลี่ย 3-4 บาท/กก. คาดการณ์ว่ามูลค่าการซื้อขายเศษแก้วในไทยสูงกว่า 1 หมื่นล้านบาท นับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ ซึ่งหากการจัดเก็บทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ช่วยลดการนำทรัพยากรธรรมชาติมาผลิตขวดแก้วได้

หนึ่งในการจัดการขยะที่มีการกล่าวถึงมากที่สุดตลอดหลายปีที่ผ่านมา คือลดการใช้ถุงพลาสติก และการคัดแยกขยะตั้งแต่ในครัวเรือน หากแต่สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องช่วยกันลงมือทำอย่างจริงจัง เพราะไม่อย่างนั้นเราคงจะได้เห็นการทุบสถิติปริมาณขยะสูงสุดทุกปี ซ้ำร้ายขยะที่ก่อขึ้นก็จะย้อนกลับมาทำลายสุขภาพและบ้านเมืองของเราเอง


ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ถ้าเราจะแก้ปัญหาต้นเหตุวิกฤตขยะ สิ่งที่เราต้องตระหนักนั้นไม่ใช่ว่าขยะจะทิ้งที่ไหน แต่เราจะทำอย่างไรในการไม่สร้างขยะ กุญแจสำหรับแก้ปัญหาไม่ใช่การจัดการขยะ แต่เป็นการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ผลิตขยะ ขยะเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เป็นการกระทำไม่ใช่สิ่งของ”  
ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
[English]
Bangkok’s Garbage at 8-Year High

The problem of garbage disposal in Bangkok has just hit a new record despite earlier announcement by the Bangkok Metropolitan Administration to reduce waste produced by city dwellers and businesses operating in the capital city as much as possible.

Bangkok is now the city that produces the largest amount of daily waste in Thailand as data from the BMA’s Department of Environment showed an average of 2.23 million metric tons of garbage have been collected each day, or around 10,525 metric per day, during October 2017 and April 2018.  This is the highest record in eight years and the trend suggested that the amount will only be on a rise due to growing population throughout the city.

Citing the information, which suggested each city resident produced around 1.2 kilograms of garbage per day in 2016, Kasetsart University forecast that the amount of garbage in Bangkok may rise even further to 1.5 metric tons a day by 2030.

According to the BMA’s 20-year city development plan for 2013-2032, the amount of garbage in Bangkok is to drop by 7.0% while the collection of hazardous waste should increase by 30.0%.

But an assessment of such an effort from 2014 to 2017 showed that the BMA has been far from nearing its goal while waste amount already rose 5.65% in 2017, when compared with 2013.

And, while more countries are declaring war against plastic, Thailand remains known as the world’s sixth largest producer of plastic waste and disposes over one million tons of plastic in the sea.  Up until now, there is no law to address this troubling issue yet although some private and public agencies have begun their campaigns to rein in the use of plastic.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *