คุณธรรมคู่กำไร โดย ผศ.ดร.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์

คุณธรรมคู่กำไร โดย ผศ.ดร.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 ดิฉันมีโอกาสเข้าร่วมงานเสวนาเดอะเนทเวิร์ค ครั้งที่ 3/2552  เรื่อง “คุณธรรมคู่กำไร: ต้นธารแห่งความร่วมมือ” ที่จัดโดย The NETWORK และ CSRI ที่ตลาดหลักทรัพย์ วัตถุประสงค์งานเพื่อเปิดเวทีส่งเสริมและต่อยอดแนวคิด พร้อมกันกับการเปิดตัวหนังสือชื่อเดียวกันนี้ สาระที่ได้จากงานทำให้ได้กลับมาทบทวนอีกทีว่าคุณธรรมคู่กำไรมีนัยยะที่แฝง อยู่อย่างไร

คุณธรรมคู่กัดกำไร: ดู เหมือนจะเป็นความเข้าใจของคนมากมายในอดีต คือคิดว่าพวกดีดลูกคิดรางแก้ว เห็นกำไรเป็นที่ตั้งน่าจะเป็นพวกไร้ซึ่งคุณธรรม เพราะภาพพจน์ผู้มีคุณธรรมมักอยู่ในรูปผู้ยอมเสียสละ ซึ่งเป็นภาพที่ไม่ค่อยจะไปคู่กันกับคนทำกำไร บางคนก็มองว่าการมีคุณธรรมในวงธุรกิจหมายถึงต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้เพราะไปตีความว่าคุณธรรมหมายถึงการทำทาน บริจาคในการกุศล หากในความเป็นจริงแล้ว คุณธรรมยังหมายรวมถึงการรักษาศีลคือการละเว้นความชั่วซึ่งเป็นเรื่องกระทำ ได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินให้ใคร ตัวอย่างที่ชัดเจนเช่น การไม่เอาเปรียบลูกค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น คู่ค้า การจ่ายเงินซัพพลายเออร์ให้ตรงเวลา หรือการรักษามาตรฐานสินค้าให้คงที่

คุณธรรมคู่กรรมกำไร: ยุค สมัยปัจจุบันมีความเข้าใจมากขึ้นในวงการธุรกิจว่าคุณธรรมกับกำไรเป็นคู่กรรม ที่เชื่อมโยงกันอยู่แบบแยกจากกันไม่ได้ เมื่อเหตุดีผลย่อมดีตามไป การทำการค้าอย่างมีคุณธรรมได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าสามารถทำกำไร ทั้งจากการได้รับการสนับสนุนจากคู่ค้าและจากที่ลูกค้าพึงพอใจในผลงาน  ตัวอย่างจากเวทีเสวนาที่ว่าด้วยเรื่องเหตุและผลของการกระทำบนความตั้งใจอันดี ได้แก่ กรณีบริษัท SWIFT ที่ขายสินค้าเกษตรปลอดสารเคมี SWIFT ก่อ กำเนิดขึ้นจากการที่เจ้าของเล็งเห็นถึงปัญหาหลักของเกษตรกรไทย คือยิ่งทำยิ่งจนกู้เงินมาลงทุนปลูกแต่ผลผลิตขายไม่ได้ตามต้องการ เจ้าของ SWIFT ผู้มีพื้นฐานเป็นนักเศรษฐศาสตร์พบว่าปัจจัยที่สำคัญได้แก่ ระบบราคาแบบ SPOT PRICING คือ กำหนดกัน ณ ห้วงเวลาการซื้อขาย ทำให้สถานการณ์อุปสงค์-อุปทานผันผวนได้ง่าย รวมไปถึงการขาดการวางแผนการผลิตอันเนื่องจากความไม่สามารถคาดการณ์ตลาดใน อนาคต

SWIFT เข้าเติมเต็มช่องโหว่ตรงนี้โดยการสร้างระบบ Contract Farming แต่ไม่บังคับว่าเกษตรกรต้องซื้อและขายทุกสิ่งอย่างกับ SWIFT เพียง เท่านั้น แนวคิดนี้นำไปสู่ความสามารถทางการผลิตและการขายสินค้าเกษตรที่ดีขึ้น มีหลักประกันราคาและแหล่งซื้อให้กับเกษตรกร ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมกับการขายผลผลิตที่มีคุณภาพปลอดสารพิษ ลูกค้าจำนวนมากตระหนักถึงคุณค่าองค์รวมเช่นนี้จึงให้การสนับสนุนปรากฏ เป็นการเติบโตที่มั่นคงขององค์กร

เมื่อคนจำนวนมากในปัจจุบันเล็งเห็นถึงความเป็นคู่กรรมของคุณธรรมกับกำไรแล้วจึงมีความสนใจมากขึ้นถึงกระบวนการจับคู่อัน อาจมีที่มาหลากหลายสไตล์ การเรียนรู้จากกรณีศึกษาทำให้พอแบ่งออกได้ตามระดับความสมัครใจ ตั้งแต่การแสวงหาคู่ด้วยตัวเองไปจนถึงการถูกคลุมถุงชน กรณีตัวอย่างของบริษัทแพรนด้า จิวเวลรี่ ที่จ้างผู้พิการอาทิคนตาบอด เป็นโอเปอเรเตอร์ คนหูหนวกเป็นพนักงานในสายการผลิต ชี้ให้เห็นถึงความพยายามหาช่องทางสร้างกรรมดี แม้จะเป็นสิ่งที่นอกเหนือไปจากองค์กรธุรกิจปรกติจะพยายามทำกัน หากแพรนด้าพบว่ากรรมดีสนองผลบวกชัดเจนคือโอเปอเรเตอร์ที่นั่นนอกจากจะมี ทักษะทัดเทียมคนตาดีแล้วยังได้รับคำชมจากหลายคนว่าเสียงหวาน พูดเพราะ อธิบายแบบตรรกะจะเห็นว่าผู้พิการทางสายตามักมีทักษะการได้ยินสูง และหลายครั้งสูงกว่ามาตรฐานทั่วไป ทำให้เขาให้ความสำคัญกับน้ำเสียงและการใช้คำพูด จึงเหมาะกับการเป็นผู้สื่อสารกับบุคคลภายนอกเป็นที่สุด นอกจากนั้นผู้บริหารแพรนด้ายังพบว่าผู้พิการทางการได้ยินเป็นพนักงานที่มี ประสิทธิภาพการผลิตสูงเนื่องจากการไม่ต้องรับรู้ รับฟังเรื่องที่เป็นการเบี่ยงเบนความสนใจไปจากงาน จึงทำให้มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า นอกจากนี้แพรนด้ายังมีโครงการจัดการศึกษาแบบทวิภาคีกับระบบอาชีวะศึกษา แม้โครงการดังกล่าวจะเป็นภาระความรับผิดชอบที่เพิมเติมขึ้นจากกระบวนการผลิต ปรกติ เนื่องจากต้องกันทรัพยากรบุคคลส่วนหนึ่งไปคอยอบรมคนอื่นตลอดเวลา แต่แพรนด้าก็ยินดีและยังพบด้วยว่าความพยายามหาคู่คุณธรรมคู่กำไรของแพรนด้า ได้นำไปสู่ความภาคภูมิใจพร้อมผลประกอบการอันน่าพอใจทางธุรกิจ

อย่าง ไร ก็ดีคุณธรรมคู่กำไรยังมีที่มาจากการคลุมถุงชน เช่นผู้บริหารเชื่อมั่นว่าดี จึงสร้างเป็นนโยบายให้พนักงานนำไปปฏิบัติ ซึ่งในหลายกรณีพบว่าเป็นการจับคู่ที่ให้ผลเป็นความสุขความพอใจ โดยเฉพาะเมื่อสิ่งที่นำมาจับคู่นั้นเป็นสิ่งดี และเห็นว่ามีความเหมาะสมกับสภาพองค์กร เช่นกรณีบริษัท Asia Precision ที่ผู้บริหารได้รับแรงบันดาลใจจากพระบรมราโชวาทจากพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวและได้น้อมนำมาใช้ในองค์กรและสื่อสารให้พนักงานได้เรียนรู้ใน ทุกวันพุธโดยจะมีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมด้วยกัน แม้จะเป็นการกึ่งบังคับให้ทุกคนต้องเข้าร่วมแต่ผลก็ปรากฏชัดเจนจากการที่ พนักงานตระหนักและซึมซับในสิ่งที่ผู้บริหารต้องการถ่ายทอดให้เป็นที่ยึด เหนี่ยว สร้างความสุขในการดำรงชีวิต และแน่นอนส่งผลให้การประกอบธุรกิจเติบโตยั่งยืนได้

ดท้ายในการจับคู่บางองค์กรยังอาจอาศัยแม่สื่อเช่นที่ The NETWORK (ประเทศไทย) ทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจ และ NGO เพื่อ ให้สามารถบรรลุผลเป็นคุณธรรมคู่กำไร และแน่นอนศิลปะการเป็นแม่สื่อต้องอาศัยความเข้าใจลักษณะนิสัยของทั้งสองฝ่าย รวมถึงทักษะในการแนะนำ สร้างโอกาสให้ได้ทำความรู้จัก เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ก่อนนำไปสู่ความต้องการร่วมหอลงโรงกันต่อไป

เรื่อง คุณธรรมคู่กำไรกับกระบวนการทำงานยังมีแง่มุมอีกมากมายให้เรียนรู้จาก ประสบการณ์และกรณีศึกษารายอื่นๆ เฉกเช่นเดียวกับการจับคู่ของมนุษยที่จะผ่านมากี่ยุคกี่สมัยก็ยังมีเรื่องให้ ได้ติดตามกันต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *