ตัดโซ่เพื่อร้อยโซ่ โดย ผศ. ดร. กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์

ตัดโซ่เพื่อร้อยโซ่ โดย ผศ. ดร. กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์

ตัดโซ่เพื่อร้อยโซ่
ผศ. ดร. กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์กรรมการเดอะเนทเวิร์ค (ประเทศไทย)
สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตีพิมพ์ใน ต้นธารแห่งความรว่มมือ คอลัมภ์ ความรู้ CSR & Partnerships
The NETWORK: ฉบับที่ 1 ปีที่ 3  กุมภาพันธ์ 2553

Chain Reaction เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ที่สะท้อนสภาวการณ์ปรกติของมนุษย์ที่ล้วนเชื่อมโยง สัมพันธ์กันตั้งแต่เหตุสู่ผล คนหนึ่งคนสู่กลุ่มก้อนปวงชน หลายคนคงเคยได้ยินวงจร “จน-เจ็บ-โง่” อันหมายถึงสภาพความยากจนที่นำไปสู่ความง่ายต่อการเจ็บป่วยอันเนื่องด้วยสุข ภาวะที่ไม่ดี ขาดโภชนาการและการดูแลร่างกายให้แข็งแรง ประกอบกับลักษณะการทำงานที่ต้องตรากตรำหรือเผชิญกับมลพิษ ความเสี่ยง ความยากจนข้นแค้นจึงส่งผลเป็นลูกโซ่ไปถึงความเจ็บป่วยได้ง่าย และเมื่อเจ็บป่วยหลายคนจึงไม่อาจดำเนินชีวิตได้ตามปรกติ ขาดโอกาสในการใช้เวลาเรียนรู้ หรือหากผู้เจ็บป่วยเป็นผู้ใหญ่ในบ้านก็เป็นเหตุให้ผู้เยาว์ต้องคอยดูแล ช่วงชิงเวลาที่จะได้ขวนขวายหาความรู้ตามวัย เหล่านี้จึงนำไปสู่สภาวะความโง่เขลา และที่ร้ายไปกว่านั้นคือความด้อยปัญญาทำให้หลายคนถูกเอาเปรียบหรือต้องไปขาย แรงงานเพื่อยังชีพ นำไปสู่ความยากจนหมุนวนอยู่เป็นวงจรอุบาทว์

ด้วยความตระหนักถึงปัญหาปฏิกิริยาลูกโซ่ในวงจร จน-เจ็บ-โง่ ดังกล่าว Mr. Philipp Graf von Hardenberg นักธุรกิจและนักบริหารการศึกษาชาวเยอรมันจึงได้ก่อตั้งโรงเรียนเยาววิทย์ ขึ้นที่ อ. กะปง จ. พังงา ด้วยความตั้งใจที่จะให้การศึกษาแก่เด็กๆ ผู้ด้อยโอกาสโดยความมุ่งหวังเริ่มแรกพุ่งไปที่เด็กที่ได้รับผลกระทบสูญเสีย หรือกลายเป็นกำพร้าจากเหตุการณ์สึนามิ ในตอนหลังได้ขยายกลุ่มถึงเด็กๆ ที่ยากจน ถูกทำร้ายร่างกาย หรือเจ็บป่วยเป็นโรคที่มิอาจรักษาให้หายขาดได้

คุณ Philipp ได้ก่อตั้งมูลนิธิ Children’s World Academy Foundation ขึ้นเพื่อระดมทุนไปสร้างโรงเรียนประจำให้เด็กๆ เหล่านี้ได้มีที่พักพิงและหาวิชาความรู้ โรงเรียนเยาววิทย์เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2549 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จเปิดโรงเรียน ปัจจุบันมีเด็กๆ ในความดูแลประมาณ 115 คน ตั้งแต่เล็กจิ๋วอนุบาลยันเด็กโตชั้นมัธยม
(ที่ยังมีจำนวนน้อยจึงใช้วิธีให้เดินทางไปเรียนที่โรงเรียนในละแวกใกล้เคียง)

ที่โรงเรียนเยาววิทย์ให้เด็กๆ ได้เรียนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาและยังจัดให้มีชั่วโมงเรียนสายอาชีพ โดยเลือกธุรกิจหลักในภาคใต้มา ได้แก่ งานเกษตรกรรม การพยาบาล และการท่องเที่ยว ให้เด็กๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ ที่แปลงเกษตรเด็กๆ ศึกษาชีววิทยา ระบบนิเวศน์ เคมีชีวภาค รวมไปถึงเศรษฐศาสตร์เกษตรกรรมเพราะสามารถนำผลผลิตไปขายที่ตลาดเป็นเงินหมุน กลับมาเลี้ยงโรงเรียนได้ ด้านการท่องเที่ยวโรงเรียนเปิดส่วนโรงแรมเล็กๆ ขึ้นมี 12 ห้องให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การจัดการและการบริหาร และโรงเรียนก็หวังว่าจะเป็นอีกหนทางหาทุนมาสนับสนุนให้โรงเรียนยืนได้ด้วยขา ตัวเอง นอกเหนือไปจากการได้รับการสนับสนุนจากผู้ใจบุญ นอกจากนั้นเด็กๆ ยังมีโอกาสเรียนภาษากับคุณครูชาวต่างชาติที่อาสาสมัครมาอยู่ช่วยสอน แถมที่โรงเรียนยังมีคอมพิวเตอร์ให้เด็กๆ
ได้ฝึกใช้กันตั้งแต่อยู่ชั้นเล็กๆ

ทำไมต้องถึงขนาดนั้น? นี่มันโครงการสงเคราะห์เด็กยากไร้ไม่ใช่หรือ? เป็นคำถามในใจของหลายคน… Mr. Hardenberg มีความมุ่งหวังว่าอยากให้เด็กๆ ที่จบจากเยาววิทย์สามารถผลักดันตัวเองออกจากวงจรอุบาทว์ จน-เจ็บ-โง่ ให้จงได้ และเครื่องมือสำคัญคงไม่มีอะไรดีไปกว่าการให้การศึกษา ซึ่งถ้าหากร่ำเรียนไปเรื่อยๆตามระบบแบบ ก.กา ข.ขา ก็ไม่รู้ว่าจะไปลงเอยได้ไกลแค่ไหน ยิ่งเมื่อประกอบกับสภาพการแข่งขันของเด็กไทยปัจจุบัน ถ้าไม่มีทุนเรียนพิเศษ หรือเมื่อเรียนจบไม่มีเส้นสายผู้ใหญ่ดันให้ ต้องอาศัย 2 มือ 2 ขาของตัวเองล้วนๆ คงยากจะไปเบียดกับใครเขาได้ หลักการของผู้ก่อตั้งโรงเรียนจึงเป็นการให้สิ่งที่ดีที่สุดแบบ First Class Quality เพื่อให้เขามีเครื่องมือหาปลาชั้นเยี่ยมไปใช้จับปลาเอง เพราะถ้าลำพังให้เบ็ดเก่าๆ ไปคันหนึ่งคงยากจะผลักตัวเองหลุดจากหนองน้ำแห้งขอดไปสู่มหาสมุทรกว้างใหญ่ ได้

จากความเข้าใจในสายโซ่ปัญหาจนเจ็บโง่ที่ขมวดตัวเป็นปมจนยากจะแก้ไขได้ จึงนำไปสู่แนวทางหนึ่งที่เรียนรู้ได้จากกรณีโรงเรียนเยาววิทย์คือ ตัดโซ่นั้นเสียก่อน แล้วจึงหาหนทางร้อยโซ่เส้นใหม่ขึ้น อันเป็นโซ่โอกาสที่ต้องอาศัยการเกื้อกูลกันของหลายภาคส่วน เช่น กรณีโรงเรียนเยาววิทย์เกิดขึ้นได้ก็ด้วยการสนับสนุนจากบุคคลและองค์กรหลาย แห่งทั่วโลก บริจาคเงินมาซื้อที่ก่อสร้างโรงเรียนและอุปการะค่าอาหารค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของเด็กและโรงเรียน เป็นที่น่าสนใจว่าทำไมคนเหล่านี้จึงเลือกมาช่วยเยาววิทย์ที่ไม่ได้มีชื่อ เสียงแบบสามารถเอาไปโฆษณาสร้างภาพลักษณ์องค์กรได้ เรื่องนี้ชวนให้นึกถึงนิทานเรื่องหนึ่งที่บอกเล่าถึงขอทานพลัดถิ่น 2 คนในมหานครนิวยอร์ค เวลาผ่านไป 10 ปี ขอทานคนแรกเคยเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ขณะที่รายหลังเก็บเงินหาที่อยู่อาศัยได้เอง หากดูใกล้ๆ จะเห็นป้ายของขอทานคนแรกที่ร้องขอความช่วยเหลือให้เขามีอาหารประทังชีวิตได้ ขณะที่ขอทานอีกคนขึ้นป้ายว่าเขาขาดเงินอีกไม่เท่าไหร่ก็จะพอเป็นค่าเดินทาง กลับประเทศได้แล้ว นิทานเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า มีหลายคนพอใจที่จะให้เพื่อสนับสนุนการต่อโซ่โอกาสมากกว่าการให้เพื่อประทัง วังวนของโซ่ปัญหาที่ไม่รู้จะสิ้นสุดตรงไหนและลงเอยได้เมื่อไรดี

กลับมาที่กรณีโรงเรียนเยาววิทย์ ความมุ่งหวังสร้างโอกาสในชีวิตให้เด็กๆ บวกความพยายามยืนด้วยขาของตนเองผ่านกิจกรรมธุรกิจสร้างโรงแรมที่พัก และการปลูกพืชผลเกษตรเป็นสายโซ่ห่วงข้อแรกๆ ที่น่าให้การสนับสนุนเพื่อร้อยเรียงโซ่ความดีงามได้ต่อไป ดังหลักการ Social Value Chain ที่ The NETWORK พยายามสนับสนุนให้เกิดขึ้น … สำหรับใครที่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการร้อยโซ่โอกาสเส้นนี้ต่อให้กับโรงเรียน เยาววิทย์ สามารถเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.childrensworldacademy.com ค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *