สิ่งแวดล้อมกับความรับผิดชอบของภาคธุรกิจต่อสังคม

สิ่งแวดล้อมกับความรับผิดชอบของภาคธุรกิจต่อสังคม

เป็น ที่เข้าใจตรงกันว่าโลกกำลังประสบกับภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในระดับโลก ปัญหาการสูญเสียพื้นที่ป่า ปัญหามลพิษอุตสาหกรรม บางกรณีเห็นได้ชัดว่ามาจากผลกระทบของอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน กรณีที่ร้ายแรงที่สุดคือ กรณีของการแพร่ของแก๊สพิษที่เมืองโภปาล (Bhopal) ประเทศอินเดีย ในวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1984 กรณีนี้ทำให้มีคนตายทันทีถึง 20,000 คน นอกจากนี้แล้วยังมีผู้ที่เจ็บป่วยตกค้างอยู่ราว 100,000 – 200,000 คน น่าเศร้าที่บัดนี้ คดีความก็ยังค้างคากันอยู่ และการเยียวยาก็ยังไม่เป็นไปอย่างเต็มที่ การประท้วงของประชาชนทั้งที่ได้รับผลกระทบและที่เห็นใจยังคงมีอยู่ร่ำไป เหตุที่ต้องยกเรื่องนี้มาเป็นอุทธาหรณ์เสียแต่ต้นก็เนื่องด้วยต้องการแสดง ว่า ความเสียหายอันเกิดจากภาคธุรกิจนั้น อย่างร้ายที่สุด กระทบถึงชีวิตผู้คนได้อย่างไร และพร้อมกันนั้นเอง ก็น่าจะปลุกเป็นแรงใจให้ธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น

การแบ่งแยกขนานใหญ่กับ การเรียกร้องความรับผิดชอบ
อันที่กล่าวว่าธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้นนั้น แสดงให้เห็นอยู่ประการหนึ่งว่า ธุรกิจและสังคม ดูจะมีความห่างเหินกันเสียระดับหนึ่ง หรือแบ่งแยกจากกันระดับหนึ่ง จนกระทั่งต้องเรียกร้องความรับผิดชอบให้มีต่อกันเลยทีเดียว กรณีนี้ย่อมต่างจากระบบเศรษฐกิจครั้งบุพกาล ที่การแลกเปลี่ยนโภคทรัพย์นั้นดำเนินในรูปแบบบรรณาการหรือของขวัญ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า เมื่อระบบเศรษฐกิจยังไม่ได้กำเนิดขึ้น ความสัมพันธ์ทางสังคมก็ยังครอบคลุมไปทั้งหมด จนยังไม่อาจแยกแยะได้ว่าส่วนใดจัดเป็นธุรกิจด้วยซ้ำ ว่าไปแล้วธุรกิจก็เป็นภาคส่วนใหม่ที่ทรงอิทธิพลยิ่งในสังคม ก็เมื่อพัฒนาการของสังคมมนุษย์ในระยะหลังนี้เอง และที่สำคัญ ยังเป็นพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดเสียด้วย ดังจะเห็นได้จากที่ธุรกิจตกอยู่ภายใต้ข้อครหาจาก ประชาชนว่าครอบงำรัฐบาลอยู่มากน้อยเพียงไร มิหนำซ้ำ ความขัดแย้งทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ก็มาจากการที่ภาคธุรกิจส่วนหนึ่ง หวังช่วงใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ โดยนำสิ่งเหล่านี้เข้ามาในระบบตรรกะที่สามารถแปลงเป็นสินทรัพย์ได้ ซ้ำร้ายกว่านั้น ของเสียที่แพร่ไปสู่สิ่งแวดล้อม บางครั้งก็ไม่ได้ถูกนำเข้ามารวมเอาไว้ในต้นทุนเสียด้วย

ที่กล่าวไว้เช่นนี้ จะทำให้เห็นการแบ่งแยก (divide) ได้สองขั้น ขั้นแรก สังคมมนุษย์ถือตนว่าแยกออกจากสิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติ มนุษย์เชื่อว่ามนุษย์รังสรรค์วัฒนธรรมที่ไม่ได้มีที่มาจากธรรมชาติได้ และมนุษย์ยังมีความสามารถที่จะช่วงใช้ธรรมชาติเอาได้ด้วย ความดังนี้ปรากฏชัดเจนดังความคิดของนักปรัชญาอย่างฟรานซิส เบคอน ที่มองว่าธรรมชาติเป็นเพศหญิงที่จาบจ้วงล่วงละเมิดเอาได้ด้วยซ้ำ ทั้งที่ในทางความเป็นจริงแล้ว มนุษย์ยังต้องพึ่งพิงธรรมชาติอย่างมีความสอดคล้องสมดุลอยู่ตลอดเวลา ดังจะหาอ่านได้จากหนังสือ ล่มสลาย (Collapse) ของ จาเร็ด ไดมอนด์ นักคิดนิเวศวิทยาที่แสดงให้เห็นในรายละเอียดว่า อารยธรรมของโลกนั้น พึ่งพิงสภาพแวดล้อมอย่างมากได้อย่างไร การแบ่งแยกขั้นแรกนี้ พิจารณาได้จากรูปที่ 1

รูปที่ 1 การ แบ่งแยกระหว่างสิ่งแวดล้อมกับสังคม

ในขั้นที่สอง ก็ดังที่ได้กล่าว สังคมเองก็ได้พัฒนาการมาสู่จุดที่ ภาคธุรกิจเป็นส่วนแยกออกมาจากสังคมชัดเจน หากพิจารณาอย่างคร่าวๆ อาจจะเรียกได้ว่า การแบ่งระหว่างประชาชนทั่วไป กับ ธุรกิจ ก็ได้ (ที่ต้องกล่าวว่าแบ่งอย่างคร่าวนั้น ก็เพราะว่าในทางความเป็นจริงแล้ว ยังมีการแบ่งแยกกันระหว่างประชาชนทั่วไป กับ ระบบผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ อีก เช่น นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร หรือการแบ่งแยกระหว่างประชาชนทั่วไป กับ ระบบกรมกอง หรือรัฐ อีกอย่างหนึ่ง) การแบ่งแยกในที่นี้ หากกล่าวเจาะจงลงไป หมายความว่า ความแปลกแยกแตกต่าง ไม่รู้สึกว่าเป็นส่วนเดียวกันอีกต่อไป เช่น สังคมเมืองและอุตสาหกรรม คือการรังสรรค์ของมนุษย์อย่างเต็มที่ จนถ้าไม่พิเคราะห์อย่างลึกซึ้งแล้ว อาจเผลอคิดด้วยซ้ำว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งที่แยกออกจากระบบสิ่งแวดล้อมได้เด็ดขาด และไม่ได้มองว่าสิ่งสร้างของมนุษย์ก็เป็นสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ สำหรับประชาชนทั่วไป ธุรกิจก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่แยกออกไปจากโลกที่รับรู้ในชีวิตประจำวัน และถึงประชาชนผู้นั้นทำงานให้กับภาคธุรกิจ ส่วนมากก็เป็นในฐานะลูกจ้างระดับล่าง ที่ไม่ได้มีความสามารถที่จะกำหนดหรือกำกับทิศทางของภาคธุรกิจได้ ดังนั้น ภาคธุรกิจแม้จะส่วนเกี่ยวพันกับชีวิต แต่ก็เป็นส่วนที่ยากจะเข้าถึง ว่าไปแล้ว กับประชาชนส่วนหนึ่ง กลับยิ่งรู้สึกว่าเกิดความไม่ไว้วางใจต่อภาคธุรกิจเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธุรกิจได้ทำลายสิ่งแวดล้อมรอบตัวเขา สภาพการณ์เช่นนี้พิจารณาดังรูปที่ 2

รูปที่ 2 การแบ่งแยกซ้อนในอีกขั้น ระหว่างธุรกิจกับประชาชนทั่วไป

ณ จุดนี้สามารถอธิบายขมวดปมได้ว่า ความโยงใยกันระหว่าง สิ่งแวดล้อม ธุรกิจ และ สังคม นั้น แม้ว่าในโลกของความเป็นจริง โลกของธรรมชาติ จะมีความโยงใยสอดร้อยกัน แต่กับในความรับรู้ ในความเข้าใจของปกติมนุษย์แล้ว กลับเป็นก้อนที่แยกขาดกัน ดังนี้ การเรียกร้องความรับผิดชอบต่อกัน มองได้อีกแง่หนึ่งว่า คือการเชื้อชวนให้พิจารณาและสร้างสภาวะความเชื่อมโยงกลับมาอีกครั้ง ประเด็นสำคัญในที่นี้คือ ความเชื่อมโยงดังนี้ จะเป็นเช่นไร

ปัญหาโลกร้อนกับโยงใยของความรับผิดชอบ
เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (climate change) หรือที่เรียกกันอย่างสั้นว่าโลกร้อน (global warming) เกิดจากน้ำมือมนุษย์ เป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก ทำให้มีก๊าซเรือนกระจกสะสมในชั้นบรรยากาศมากเกินไปในกระบวนการตามธรรมชาติ และก๊าซนี้เองที่ทำให้รังสีความร้อนไม่สามารถกระจายกลับไปยังอวกาศ และสะท้อนกลับมายังโลกมากขึ้น ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น ประมาณ 2-5 องศาเซลเซียส เรียกว่า “สภาวะเรือนกระจก” (Greenhouse effect) กรณีนี้เป็นตัวอย่างของความเสี่ยงเฉพาะในสังคมสมัยใหม่ ที่ความเสี่ยงนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากธรรมชาติแต่อย่างเดียว แต่ว่าความเสี่ยงเกิดจากการผลิตสร้างของมนุษย์ (manufactured risk) ด้วย ผลกระทบของสภาวะโลกร้อน พอสรุปได้ดังนี้

1.การเกิดโรคระบาดจากโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำ ทำให้เกิดโรคระบาดเนื่องจากเป็นพาหะนำเชื้อโรค เช่น หนู ค้างคาว นก ยุง และแมลงต่างๆ สัตว์เหล่านี้นำเชื้อโรคเข้ามาอยู่ใกล้มนุษย์ ซึ่งสามารถแพร่เชื้อโรคไปสู่คนได้ง่าย สิ่งเหล่านี้เกิดจากการที่บางพื้นที่มีความอบอุ่นมากขึ้น และมีความชื้นมากขึ้น จึงทำให้เป็นแหล่งสะสมเชื้อและพาหะได้เป็นอย่างดี

2.ความสมบูรณ์ของทรัพยากรทะเลและชายฝั่งลดลง อันเนื่องมาจากระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิ และฤดูกาลที่แปรปรวนไปทำให้อุณหภูมิของน้ำทะเลเปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น ส่งผลต่อการวางไข่ของปลา ส่งผลให้ปริมาณสัตว์ทะเลที่ลดน้อยลง

3.การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และความมั่นคงทางด้านอาหาร ในพื้นที่เขตอบอุ่นนั้น องค์ประกอบและการกระจายตัวของสิ่งมีชีวิตตามพื้นที่ จะเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองต่อปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นใหม่ การเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ต่างๆอาจไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยน แปลงอาจสูญพันธุ์ไป นอกจากนี้ ภาวะโลกร้อนยังมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝนและรูปแบบการตกของ ฝนในพื้นที่ต่างๆด้วย

4.ภัยพิบัติน้ำท่วม แผ่นดินถล่ม ภัยแล้ง และพายุโซนร้อน การ เปลี่ยนแปลงสภาพของภูมิอากาศโลก เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความแปรปรวนของฤดูกาล เกิดการแปรปรวนของฝนทั้งปี ช่วงฤดูร้อนยาวกว่าในอดีต ทำให้ในปัจจุบัน ประชากรทั่วโลกกำลังถูกบีบให้ปรับตัวต่อความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิ อากาศที่จะเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของพวกเขา โดยเฉพาะ ประชากรที่อาศัยอยู่ในจุดที่จะมีโอกาสได้รับผลกระทบมากกว่าส่วนอื่นๆ เช่น ชาวนา ชุมชนสลัม และประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณแถบชายฝั่ง โดยความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นนี้ มีพลังมหาศาลต่อการพัฒนามนุษย์ในอนาคต

กรณี ตัวอย่าง คือ ประเทศ ไนเจอร์ (Niger)[1] ซึ่งเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดประเทศหนึ่งในโลก เด็กจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศมีน้ำหนักที่ต่ำกว่ามาตรฐาน และจำนวน 1 ใน 5 จะเสียชีวิตก่อนอายุ 5 ปี ประเทศไนเจอร์เป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวด เร็วของภูมิอากาศ ประกอบกับปัจจัยเรื่องความยากจน ภาวะขาดสารอาหารที่ไม่ปลอดภัยสูงในทุกๆปี ข้อจำกัดในเรื่องสุขภาวะและผลผลิตทางการเกษตรที่จะต้องพึ่งพาปริมาณน้ำฝน โดยทางด้านการเกษตรได้รับผลกระทบอย่างเฉียบพลัน ผลผลิตลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว

ในทางตรง กันข้าม เมื่อเกิดภัยพิบัติน้ำท่วม อีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นตรงข้ามกันคือ การขาดแคลนน้ำ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อการละลายของธารน้ำแข็ง ระบบการไหลของน้ำ ในปัจจุบันแม่น้ำหลายสายและทรัพยากรน้ำอื่นๆไม่มีความยั่งยืน ประชากรประมาณ 1,400 ล้านทั่วโลก[2] ที่อาศัยอยู่ใกล้กลุ่ม น้ำกำลังทรมานจากระบบนิเวศที่ถูกทำลายเสียหาย ระบบน้ำทางตอนเหนือของจีนถูกทำลายเสียหายระดับน้ำผิวดินลดลงในเอเชียใต้และ เอเชียตะวันออก

5.ความเสียหายต่อทรัพย์สินและโอกาสของมนุษย์ อันเนื่องมาจากภัยพิบัติที่เกิดจากภาวะโลกร้อนนั้น ไม่ว่าจะเป็นความแห้งแล้ง น้ำท่วม พายุและเหตุการณ์อื่นๆ ได้ส่งผลเสียต่อผลผลิต รายได้ และทรัพย์สิน ผู้ที่ยากจนนั้นจึงสูญเสียรายได้และต้องลดการใช้จ่าย และผลกระทบในระยะยาวคือ การส่งผลเสียต่อการพัฒนามนุษย์ การค้าต่างๆ ถูกบีบบังคับโดยขึ้นกับความรุนแรงของภูมิอากาศและความไม่เท่าเทียมกันของราย ได้ เพศ และความไม่เท่าเทียมกันในด้านอื่นๆ ตัวอย่าง เช่น

5.1 สารอาหาร ภัยพิบัติ เช่น ภัยแล้งและน้ำท่วมส่งผลกระทบอย่างมากในเรื่องของสารอาหาร ราคาสูงขึ้นและภาวะการจ้างงานถดถอย ความเสื่อมโทรมของอาหารก่อให้เกิดหลักฐานที่จัดการกับยุทธศาสตร์ที่กำลังล้ม เหลว ภาวะปัญหาการขาดการอาหารนี้เกิดขึ้นในโซนแอฟริกา[3] เคนยา และในอีกหลายๆประเทศ

5.2 การศึกษา ในครอบครัวที่ยากจนนั้น เด็กจะต้องเข้ามาเป็นแรงงานร่วมด้วย แม้ว่าจะอยู่ในสภาวะปกติ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมและภัยแล้ง จึงเพิ่มปริมาณแรงงานเด็กมากเพิ่มขึ้น เช่น ประเทศบังคลาเทศและอินเดีย[4] เด็กที่ยากจนจะต้องเข้าทำงานในฟาร์มเพื่อแลกเปลี่ยนกับอาหารในภาวะขาดแคลน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว โอกาสที่เด็กจะได้รับการศึกษาจะลดลง

5.3 สุขภาพ ความเสียหายจากอาหารและรายได้ที่ลดลงก่อให้เกิดผลเสียที่ตามมา คือ การเสียสุขภาพง่ายมากขึ้นเพราะร่างกายไม่แข็งแรง และมีทรัพยากรไม่เพียงพอที่จะเข้ารับการรักษา ภาวะน้ำท่วมและภัยแล้งก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพที่หลากหลาย เช่น การท้องเสียในเด็ก ปัญหาเรื่องผิว ในประเทศเม๊กซิโก[5]นั้น ช่วงปี พ.ศ. 2541-2543 เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ป่วยด้วยความทรมานจากภูมิอากาศ

ที่ได้ กล่าวมาดังนี้ พอทำให้เห็นภาพรวมได้ว่า วิกฤตโลกร้อน ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง แต่กระนั้น หากใช้ปัญญามองอย่างทะลุแจ้งอีกเล็กน้อย จะเห็นได้ว่า ภัยพิบัติจากโลกร้อนนั้น ส่งผลกระทบต่อประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนามากกว่าส่วนอื่นใดในโลก โดยนัยยะนี้ จะหมายความว่าเกิดขึ้นในถิ่นที่ไม่ใช่แหล่งของธุรกิจขนาดใหญ่ด้วยก็ได้ เรื่องนี้เราอาจให้เหตุผลได้ในสองแง่ แง่แรก เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในประเทศซีกโลกใต้มักเป็นไปอย่าง รุนแรงกว่า และแง่ที่สอง ระบบสาธารณะสุขพื้นฐาน ระบบการกู้ภัย และอื่นๆ ยังไม่ได้มาตรฐานเท่ากับประเทศซีกโลกเหนือที่พัฒนาแล้ว ที่จริงทั้งสองแง่นี้ก็เสริมกัน รูปที่ 3 จะแสดงอัตราการตายเป็นจำนวนคนต่อล้านคน ในปี ค.ศ. 2005 จัดทำโดย WHO

รูปที่ 3 ประมาณ อัตราการตายจากสภาวะโลกร้อน (ต่อประชากรล้านคน)

อันเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นความไม่เป็นธรรมในระดับโลก เพราะว่าไปแล้ว ประเทศที่ต้องทนทุกข์มากที่สุดคือในทวีปแอฟริกา กระนั้น ที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุดกลับไม่ใช่ในส่วนนั้น พิจารณารูปที่ 4 ที่แสดงถึงการปล่อยคาร์บอนโดยประมาณการทั่วโลก แผนที่ของ World Watch Institute นี้แสดงขนาดความใหญ่ของ ประเทศด้วยปริมาณการปล่อยคาร์บอนว่ามีมากน้อยเพียงไร ในปี ค.ศ. 2006

รูปที่ 4 แสดง การปริมาณปล่อยคาร์บอนของประเทศต่างๆ (หน่วย เมตริกตัน)

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีการลงนามในพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) เพื่อให้แต่ละประเทศร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ก็ไม่ได้ลดลงในทางปฏิบัติ ใจความสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่ว่า เป็นเหมือนความต้องการที่จะขัดแย้งกันในที กล่าวคือ ด้านหนึ่งก็ต้องการจะลดการปล่อยคาร์บอนลง อีกด้านหนึ่งก็ต้องการจะคงการเติบโตทางเศรษฐกิจเอาไว้ ทั้งที่ระบบเศรษฐกิจนั้น มีพื้นฐานอยู่บนการใช้เชื้อเพลิงที่ปลดปล่อยคาร์บอน ซึ่งหากไม่เกิดนวัตกรรมในทางพลังงานทางเลือกในจุดนี้แล้ว ก็ยากที่จะลดการปล่อยคาร์บอนลงได้อย่างยั่งยืนได้

ในข้อตกลง ระดับโลก การลดการปล่อยคาร์บอนได้ถูกทำให้เป็นเรื่องธุรกิจ นั่นคือการค้าคาร์บอน (Carbon Trading) กล่าว สรุปอย่างง่ายได้ดังนี้ คือ แต่ละประเทศมีข้อจำกัดให้ลดการปล่อยคาร์บอน แต่กระนั้น การลดในประเทศตนเองอาจจะยาก เนื่องจากได้ลงทุนไปกับเทคโนโลยีบนฐานของเชื้อเพลิงที่ก่อคาร์บอนไปมากแล้ว ประเทศที่พัฒนาแล้ว จึงเลี่ยงการลดการปล่อยคาร์บอน ที่ส่งผลกับการปรับเปลี่ยนอย่างรุนแรง ด้วยการให้เงินอุดหนุนประเทศด้อยกว่าให้ลดการปล่อยคาร์บอน เท่ากับว่าไม่ต้องลดคาร์บอนในบ้านตนเอง แต่ไปลดการปล่อยคาร์บอนที่บ้านคนอื่นแทน ปริมาณคาร์บอนที่ลดได้จะถูกคำนวณเป็นจำนวนเงิน แล้วประเทศพัฒนาแล้วก็ต้องจ่ายไปตามที่ตกลงกันไว้ เรื่องนี้ ถูกวิจารณ์ว่าทำให้ความเอาจริงเอาจังของการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่ปล่อย คาร์บอนน้อยลงไม่เกิด เนื่องจากเงินที่ควรลงทุนในส่วนนี้ กลับถูกใช้ไปในการซื้อปริมาณคาร์บอนในประเทศอื่นเสียสิ้น

อีกอย่าง หนึ่ง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น มาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจเสียมาก แบ่งกันไปตามสัดส่วนแล้ว แนวโน้มที่เป็นคือ ภาคการผลิตพลังงานนั้นปล่อยคาร์บอนมากที่สุด รองลงมาคือภาคการขนส่ง และรองลงมาอีกคือจากอุตสาหกรรม การผลิตพลังงานนั้นอาจจะไม่ได้นำส่งไปแค่ธุรกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชาชนทั่วไปด้วย กระนั้นก็ยังยากจะเลี่ยงว่า พลังงานที่ใช้โดยมากนั้น เป็นการใช้ในส่วนของการประการทางธุรกิจ เป็นเรื่องเศร้าที่พึงกล่าวว่า ห้างสรรพสินค้าใหญ่ใจกลางเมืองหลวงนั้น ว่าไปแล้วก็ใช้พลังงานมากกว่าบางจังหวัดทั้งจังหวัดเสียอีก

การกล่าว ถึงห้างสรรพสินค้าดังนี้ ยังชวนให้พิเคราะห์ต่อว่า อันที่จริงก็เป็นเพราะการพัฒนาอย่างเห่อเหิมการบริโภคด้วยซ้ำ ที่เป็นส่วนขับเน้นการใช้ทรัพยากร และ พลังงานอย่างล้างผลาญ บทบาทของผู้บริโภคในสังคมบริโภคนิยมแม้ว่าจะไม่ใช่ส่วนหนึ่งของภาคธุรกิจ แต่ก็เป็นส่วนที่เกื้อกูลภาคธุรกิจให้อยู่ได้ และอาจโดนภาคธุรกิจกระตุ้นให้บริโภคเสียด้วย ส่วนนี้ก็ต้องได้รับการพิจารณาด้วยเช่นกัน รูปที่ 5 จะแสดงการเปรียบเทียบการผลิตไฟฟ้าและการใช้ไฟฟ้าของห้างสรรพสินค้า และจังหวัดระยองรวมกับแม่ฮ่องสอน จัดทำโดยกลุ่มพลังไท

รูปที่ 5 แสดง การเปรียบเทียบการผลิตไฟฟ้าและการใช้ไฟฟ้าของห้างสรรพสินค้า และจังหวัดระยองรวมกับแม่ฮ่องสอน

ที่ ได้แสดงไปข้างต้นนั้น ชี้ให้เห็นว่า การปล่อยคาร์บอนนั้นเป็นกรณีตัวอย่างหนึ่งที่ภาคธุรกิจต้องตระหนักอย่าง รู้แจ้งเพื่อให้มีความเข้าใจจนนำไปสู่การปฏิบัติอย่างมีความรับผิดชอบ ได้อย่างลึกซึ้ง เพราะนี่คือการโยงใยกันของทั้งหมด นับแต่การผลิตพลังงาน การขนส่งชิ้นส่วน การประกอบการ การจัดจำหน่าย และส่งผลต่อไปยังสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจากการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการ ต่างๆ แต่ผลกระทบที่ได้ในกลับได้รับกันอย่างไม่เท่าเทียม และระบบแห่งความไม่เท่าเทียมและไม่ยั่งยืนนี้ ถูกค้ำจุนอยู่ด้วยกำลังของการบริโภค ที่เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจอยู่มิเว้นวาย

ฉะนี้ เอง บางครั้งการพยายามของภาคธุรกิจบางส่วน ที่ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ลดโลกร้อนต่างๆ จึงเป็นการดำเนินการที่ไม่ตรงจุด เนื่องจากกล่าวได้ว่าเป็นแค่ส่วนเสริมเท่านั้น บางครั้งอาจกล่าวตรงไปตรงมาด้วยซ้ำว่าเป็นส่วนสร้างหน้าสร้างตาประชา สัมพันธ์ เพราะว่าโดยเนื้อแท้แล้ว ภาคธุรกิจเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องส่องสะท้อนการดำเนินกิจการของตน เอง พิจารณาทั้งหมด ให้เห็นเป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงกัน แล้วลงไปแก้ไขในแต่ละจุดให้ถูกต้อง ดังนี้แล้วจึงจะเรียกได้ว่าเป็นความรับผิดชอบอย่างแท้จริง

ต่อประเด็นนี้ รายงาน การปฎิบัติของ ภาคธุรกิจเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจใช้คาร์บอนต่ำ (Business Practices in Support of a Low-carbon Economy)[6]เสนอแนว ทางของธุรกิจที่จะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ในสามขอบเขต ด้วยกัน ในขอบเขตแรกนั้น คือ การวัดและรายงานผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการส่องสำรวจตนเองต่อการสร้างความเสียหายต่อ สภาพแวดล้อม และยังเป็นพื้นฐานของการดำเนินมาตรการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป ว่าไป ในมาตรฐาน ISO 14064 และ ISO 1 4065 ก็ระบุกรอบสำหรับการตรวจวัดคาร์บอน นอกจากนี้ การวัดคาร์บอน ก็แบ่งได้เป็นสามส่วน ส่วนแรก ที่เกิดขึ้นด้วยตัวบริษัทเอง ส่วนที่สอง ที่เกิดขึ้นทางอ้อม เช่น จากไฟฟ้าที่ใช้อยู่ และส่วนที่สาม เป็นส่วนทางอ้อมที่เกินขอบเขตจากส่วนที่สอง เช่น จากการขนส่งผลิตภัณฑ์ ขอบ เขตที่สองคือ การวางยุทธศาสตร์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก กล่าวได้ว่าเพื่อทำให้กระบวนการของการทำธุรกิจทั้งหมด มุ่งไปสู่สัมมาอาชีวะ ในด้านหนึ่งเพื่อลดต้นทุนในกระบวนการ ในอีกด้านหนึ่งก็เพื่อลดการทำร้ายโลก ไม่ว่าจะทั้งด้วยการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรม การออกแบบแต่ต้น และตรวจตราสอดส่องห่วงโซ่อุปทานให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลง ต่อจุดนี้ บางครั้งก็ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นการดำเนินการขนาดใหญ่ แต่เป็นการห่วงใยในจุดเล็กๆ ที่เคยมองข้าม เช่น ระบบส่องสว่างในออฟฟิศ ระบบเครื่องปรับอากาศ ขอบเขตที่สามคือ การชักชวนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมด้วย กล่าวคือ ธุรกิจต้องแผ่ความดีของตนออกไปสู่ภายนอกให้ผู้อื่น แม้กระทั่ง ผู้บริโภคให้มีส่วนตัดสินใจเลือกสินค้าและบริการที่ปล่อยคาร์บอนแต่น้อยด้วย พนักงานให้ไปปฏิบัติแนวทางการลดคาร์บอนต่อที่บ้าน ตลอดจนเข้าไปมีส่วนร่วมกับภาคนโยบาย ถอดบทเรียนร่วมเรียนรู้กับส่วนอื่นในภาคธุรกิจ รวมไปถึงองค์กรเอกชนจากความรับผิดชอบ ร่วมกันสู่ความไว้วางใจร่วมกัน

แม้ดูเหมือนว่า โลกธุรกิจปัจจุบัน การแข่งขันท่ามกลางวิกฤตจะเป็นสภาพใครดีใครได้ แต่ว่าในทางความเป็นจริงแล้ว การรับผิดชอบร่วมกันกับภาคส่วนอื่นในสังคม ย่อมเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างความน่าเชื่อของบริษัทต่อสังคม

ยิ่งกรณีสารพิษสิ่งแวดล้อม แล้ว การตื่นตัวของประชาชนคนทั่วไป ยิ่งเป็นเครื่องชี้วัดชัดเจนต่อชื่อเสียงของบริษัท เช่น การลงทุนที่มาบตาพุด บัดนี้กลายเป็นจุดสนใจที่สังคมจับตามอง ที่มาบตาพุดนั้น นิคมอุตสาหกรรมที่ขยายขึ้น มีความพ้องต้องกับอัตราการเจ็บป่วยของประชาชนละแวกนั้นที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่น กัน ข้อหวั่นวิตกของประชาชนในถิ่นนั้น อาทิเช่น เป็นโรคทางเดินหายใจมากกว่าพื้นที่อื่นในประเทศไทย และมากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต อัตราส่วนการเป็นมะเร็งสูงมาก พืชผลไร่นาบริเวณรอบโรงงานไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลิตผลอย่างสมบูรณ์ได้ ความเช่นนี้หาได้เลื่อนลอย แต่ยังฟังขึ้นจนได้มีคำสั่งศาลปกครองพิจารณายับยั้งโครงการเกิดใหม่ในมาบตา พุด เพื่อให้มีการพิจารณาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างรอบคอบและโปร่งใส ทั้งนี้ กระแสของความไม่น่าเชื่อมั่นเชื่อถืออันมีมูลนี้แรงขึ้น จนกระทั่งว่าการที่ภาคธุรกิจลงไปเกื้อหนุนชาวบ้านผ่านรูปแบบดาดๆ เช่น การจัดทุนการศึกษา การจัดการแข่งขันกีฬา ดูจะไม่เพียงพอเสียแล้ว เพราะถูกมองว่าเป็นแค่การกุศลธรรมดา เช่นนี้ภาคธุรกิจส่วนหนึ่งกลับโดนข้อครหาว่า ผักชีโรยหน้าเท่านั้น มิหนำซ้ำ คำบริภาษอันรุนแรงยังปรากฏจากปากคำชาวบ้านอย่างกราดเกรี้ยวด้วยว่า “ขอบคุณที่ห่วงใย ขอบใจที่หลอก ก…”

เพื่อขยายความ จึงขออ้างถึง ดร. สมฤดี นิโครวัฒนยิ่งยง ผู้อำนวยการอาวุโส สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ผู้ได้ร่วมแสดงทัศนะในเรื่องของการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม[7] โดย เสนอหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมสากลมาเป็นตัวชี้วัดว่าภาคธุรกิจมีความรับ ผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) มากน้อย เพียงใด ดร.สมฤดีได้ตั้งข้อสังเกตว่าการทำ CSR – Corporate Social Responsibility ในปัจจุบันมีลักษณะ ของการทำการกุศลหรืองานประชาสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้อง กับการประสานสัมพันธ์กับลูกค้าเสียมากกว่าการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งภาคธุรกิจที่ทำสิ่งเหล่านี้มีทั้งที่เข้าใจและไม่เข้าใจ CSR ในขณะที่การทำงานการกุศลเป็นการให้การ อุปถัมภ์ ให้การอนุเคราะห์ เป็นการให้จากผู้ที่มีไปสู่ผู้ที่ไม่มี แต่การรับผิดชอบต่อสังคมนั้นเป็นลักษณะของการทำให้สังคมมีความก้าวหน้าไป พร้อมๆกัน อีกประการหนึ่ง คือจะต้องทำความเข้าใจว่า ความคาดหวังต่อบทบาทของแต่ละฝ่ายก็มีผลทำให้ภาคธุรกิจไม่เห็นถึงบทบาทความ รับผิดชอบที่จะต้องมีต่อสังคม เพราะมักมีการคาดหวังว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐหรือ NGOs ในขณะที่บทบาทของภาคธุรกิจคือการทำกำไรอย่างเดียว ส่วนภาคประชาชนก็จะต้องเป็นฝ่ายที่อยู่นิ่งๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะต้องมีความรับผิดชอบต่อ สังคม

กรณีเดียวกันนี้ ดร. จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ผู้ช่วยอธิการบดีด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความเห็นในเรื่องความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม[8] ว่าจะต้องพิจารณา 3 เรื่องซึ่งต้องขับเคลื่อนไปพร้อมๆกัน นั่นคือ ตัวผู้ประกอบการ ตัวผู้บริโภค และสังคม ทางด้านของผู้ประกอบการนั้น ปัจจัยสำคัญคือ จะต้องเห็นคุณค่า เห็นความยั่งยืนก่อน ทั้งนี้ ควรเข้าใจว่าผู้ประกอบการโดยส่วนใหญ่แล้วสนใจเรื่องความอยู่รอดเป็นหลัก การจัดการในองค์กรของธุรกิจมีพัฒนาการ อยู่ 4-5 ระดับ ในระดับแรก คือการจัดการผ่านสำนึกและความรู้ความเข้าใจ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างธรรมาภิบาลขององค์กร แต่จุดนี้ก็ยังไม่ได้หมายความว่าธุรกิจได้มีความรับผิดชอบต่อสังคมแล้ว ความรับผิดชอบเริ่มต้นเมื่อมีการทำตามกฎหมาย ซึ่งเป็นขั้นพื้นฐานสุด ไม่ใช่การทุ่มเงินบริจาค ระดับที่สอง นอกจากจะต้องมีความรู้ความเข้าใจแล้ว ผู้ประกอบการควรสามารถบูรณาการภารกิจด้านความรับผิดชอบต่อสังคมเข้ากับผล ประกอบการและยุทธศาสตร์การพัฒนาองค์กรได้ ถ้าผู้ ประกอบการมองไม่เห็นจุดบูรณาการก็จะไม่สามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้อย่าง ยั่งยืน เพราะเราต้องเข้าใจว่าการรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจมีความอยู่รอดเป็นต้น ทุน สังคมต้องชี้ช่องว่าเขาสามารถบูรณาการได้ สามารถอยู่รอดและเจริญก้าวหน้าได้ ซึ่งถ้าตรงนี้ สังคมทำสำเร็จก็เป็นการเปลี่ยนศัตรูมาเป็นมิตร ระดับที่สาม คือ การแบ่งปันกันในฐานะสมาชิกของสังคม เป็นที่น่าสังเกตว่าการทำ CSR มักจะกระโดดมาที่ข้อนี้เลย ในระดับสี่ คือ การทำให้เห็นเป็นตัวอย่างหรือการทำ CSR ให้เป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจ และระดับสุดท้าย คือการเปลี่ยนธุรกิจให้เป็นธุรกิจที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม แต่เรื่องนี้ก็เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางสังคมที่จะต้องสร้างกลไกและกระบวน การในการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วย กลไกขาเดียวไม่เพียงพอ  นอกจากผู้ประกอบการแล้ว ส่วนที่สองคือ ผู้บริโภค เพราะผู้ประกอบการอยู่ได้เพราะลูกค้า เมื่อผู้ประกอบการควรมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม ผู้บริโภคก็ต้องสนับสนุนผู้ประกอบการเหล่านี้เช่นกัน

กรณีดังกล่าว จึงสะท้อนให้เห็นว่า แม้จะขึ้นชื่อว่า “ความรับผิดชอบของภาคธุรกิจต่อสังคม” แต่โดยเนื้อแท้แล้ว ก็ล้วนเป็นการพึ่งพิงอิงอาศัยกัน ณ จุดนี้ ประเด็นอยู่ที่ว่า นอกจากจะคำนึงถึงกำไรสูงสุดแล้ว ภาคธุรกิจจะมีความกล้าทางจริยธรรมพอที่จะ ร่วมมือกับส่วนอื่นของสังคม เพื่อให้ความรับผิดชอบที่แสดงออกนั้น เป็นความรับผิดชอบที่ห่วงใยสังคมอย่างจริงแท้หรือไม่ แต่กระนั้น แม้ไม่ทำ ก็มีแนวโน้มชัดเจนว่า ภาคประชาชนที่เข้มแข็งขึ้น และรัฐธรรมนูญมาตรา 67 ที่ระบุเรื่องการประเมินสิ่งแวดล้อมไว้อย่างชัดเจน โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ก็จะเป็นตัวบีบอยู่แล้วโดยปริยาย

บทสรุป

แม้ว่าจะกล่าวถึงแค่สองกรณี คือกรณีโลกร้อน และกรณีสารพิษอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่สองกรณีนี้ก็เป็นตัวแทนของการแสดงให้เห็นความท้าทายใหม่ของความรับผิดชอบ ต่อสังคมของภาคธุรกิจในประเด็นสิ่งแวดล้อม ความท้าทายใหม่ได้แก่ ระบบโลกที่เชื่อมโยงกันมากขึ้น นับทั้งการเชื่อมโยงทางสังคม และการเชื่อมโยงระหว่างการกระทำของมนุษย์กับธรรมชาติ จนกระทั่งการคิดแบบการกุศลอย่างง่ายดูจะเป็นแค่การเอาหน้าเท่านั้น ไม่สามารถส่งผลอย่างจริงจังและยั่งยืนได้อีกต่อไป เรื่องนี้ยังนับไปถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมอื่นด้วย อาทิ ป่าชายเลนที่ถดถอย การตัดไม้ทำลายป่า ความล้นพ้นของขยะมูลฝอย ขยะคอมพิวเตอร์ การใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง เป็นต้น

เรื่องเหล่านี้ท้าทายทัศนคติเดิมอย่างถึงแก่น เช่น การแบ่งเขาแบ่งเรา แบ่งอาณาบริเวณระหว่างภายนอกกับภายใน เพื่อจะให้เราได้กำไรสูงสุด บางครั้งแลกมาด้วยการผลักต้นทุนไปสู่ภายนอก เรียกว่า externalities หรือแม้กระทั่ง การคิดมาตรการเอาตัวรอดแต่เพียงตัวคนเดียว ก็ยากที่จะประสบผลอีกต่อไป หลายครั้งมีความชัดเจนมากขึ้นว่า ภาคธุรกิจจะดำเนินการอย่างมีคุณธรรมได้ ก็ต้องอาศัยภาครัฐ หรือภาคประชาชน เช่น ผู้บริโภค มาร่วมสนับสนุน กระนั้นก็ไม่สามารถตีความได้ว่า ภาคธุรกิจจะทำตัวเป็น “ลูกไล่” หรือรอการบีบบังคับจากภาคส่วนอื่นได้อีกต่อไป หากรอเช่นนั้นแล้ว ความเสียหายในบั้นปลาย อาจมากกว่าด้วยซ้ำ ความตระหนักรู้ของภาคธุรกิจควรจะต้องมีมากขึ้น และกระทำการเชิงรุก ด้วยการส่องสำรวจตนเองก่อน และริเริ่มกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภายนอก ขับเคลื่อนทั้งยุทธศาสตร์ของตนเอง นโยบายสาธารณะ และอารมณ์ความรู้สึกของสังคมไปพร้อมกัน

[1]Chen and Meisel 2006; Mousseau and Mittal 2006;MSF 2005;Seck2007a

[2] UNDP,Human Development Report 2007/2008, (New York : Palgrave Macmillan,2007),95.

[3] UNDP,Human Development Report 2007/2008, (New York : Palgrave Macmillan,2007),86.

[4] UNDP,Human Development Report 2007/2008, (New York : Palgrave Macmillan,2007),87.

[5] UNDP,Human Development Report 2007/2008, (New York : Palgrave Macmillan,2007),87.

[6] Kauffmann, C. and C. T. Less (2009), Business Practices in Support of a Low-carbon Economy, OECD and UN-ESCAP.

[7] ในการสัมมนา กรณี สารพิษคลิตี้และมาบตาพุดกับคุณธรรมธุรกิจบนเส้นทางสู่อนาคตที่ยั่งยืน วันอังคารที่ 9 มิถุนายน 2552 เวลา 9.30 – 15.30 น. ห้องประชุมชั้นสี่ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[8] ในการ สัมมนาที่เพิ่งอ้าง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *