ก้าวย่างการบ่มเพาะสู่ต้นธาร แห่งความร่วมมือ

ก้าวย่างการบ่มเพาะสู่ต้นธาร แห่งความร่วมมือ

ข่าวคราวอัพเดทของเดอะเนทเวิร์ค กลับมาแล้ว ถึงจะมาสายไปหน่อยแต่สัญญาว่าจะมาพร้อมกับก้าวย่างที่แข็งแรงขึ้น เชื่อมประสานความร่วมมือกับเพื่อนเก่าและเปิดเส้นทางใหม่พบปะเพื่อนใหม่ๆ ให้มากขึ้น จับมือร่วมกันสร้างสรรค์ให้มีสิ่งดีๆ งอกงามขึ้นในสังคมเรายิ่งขึ้นไปอีก

เหตุการณ์ไม่ปกติในบ้านเมืองและสังคมของเราในช่วงที่ผ่านมา กลับสะท้อนให้เห็นถึงพลังด้านบวกในสังคม เผยให้เห็นความในใจของคนสังคมว่ายังต้องการเห็นและต้องการทำให้สังคมดีขึ้น เป็นความร่วมมือร่วมใจที่น่าอัศจรรย์ใจ และเป็นแรงใจก้อนใหญ่ให้กับต้นธารฯ มีความมุ่งมั่นทำหน้าที่ขับเคลื่อนและชักชวนองค์กรภาคีจาก 2 ภาคส่วน หันมาร่วมคิด ร่วมแก้ไข ร่วมกันสร้างสรรค์สังคมอย่างขมักเขม้นยิ่งกว่าเดิม และมีความคืบหน้าการจับคู่ขององค์กรมานำเสนอถึงสามคู่ด้วยกัน

คู่แรกคือบริษัท ICC จำกัด กับ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, คู่ที่สอง บริษัท สวิฟท์ จำกัด กับ สหทัยมูลนิธิ และคู่ที่สาม บริษัท สยามแฮนดส จำกัด กับ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ซึ่งความสัมพันธ์ของภาคีทั้ง 3 คู่นี้นับวันจะแน่นแฟ้นและชัดเจนในก้าวเดินและเป้าหมายที่ทุกฝ่ายเคียงบ่า เคียงไหล่เพื่อเรียนรู้และใช้เวลาสืบหาแนวทางและคุณค่าร่วมกัน เพื่อจะทำสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม และที่จะขาดเสียไม่ได้ก็คือข่าวอัพเดทที่ทุกคนรอคอย ซึ่งก็คือความคืบหน้าของกิจกรรมเสวนาที่เดอะเนทเวิร์ค จะลั่นกลองประเดิมงานเสวนาระดับคุณภาพนัดแรกแห่งปี ในเดือนสิงหาคมนี้

“รักษ์ป่า เลี้ยงช้าง” ชื่อนี้ต้องลุ้น
(ความเคลื่อนไหวคู่บริษัท ICC จำกัด และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร)

“ชื่อ” คำ สั้นๆ ที่ทำให้เกิดอาการติดหู ติดปาก ติดตา ติดใจ กับสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาให้สัมผัส และประเด็นเรื่อง “ชื่อ” ก็มีความหมายมิใช่น้อยกับการนำเสนอโครงการระหว่างบริษัท ICC จำกัด และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ที่ต่างฝ่ายก็ลุ้นกันสุดตัวว่าจะได้รับการอนุมัติให้จับมือร่วมกันพัฒนาหรือ ไม่ อย่างไรนะหรือ?? ก็ชื่อโครงการ “เชื่อมระบบนิเวศผืนป่าเพื่ออนุรักษ์ช้างและสัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก” ที่ทางฝ่ายมูลนิธิสืบนาคะเสถียรผู้คิดโครงการตั้งมานั้น เพียงแค่ได้อ่านก็เข้าในเนื้องานของโครงการไปกว่าครึ่ง แต่จะหวังให้เกิดอาการ ติด..! นั้นคงเป็นเรื่องยาก ดังนั้นในนัดพบเพื่อนำเสนอโครงการครั้งที่ 2 นี้ คุณสมพล ผู้จัดการบริษัท ICC โต้โผใหญ่ที่จะนำโครงการนี้ไปเข้าเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ของเครือสหพัฒน์ จึงได้เสนอให้ใช้ชื่อโครงการว่า “รักษ์ป่า เลี้ยงช้าง” ชื่อ สั้นๆ ที่แม้ฟังแล้วไม่เข้าใจเนื้องานได้เหมือนชื่อแรก แต่รับรองได้เลยว่าต้องเกิดอาการ ติด..! อย่างแน่นอน แล้วเรามาคอยลุ้นว่าชื่อใหม่ที่แสนสั้นนี้จะสามารถ ติด..! จนผ่านการอนุมัติให้ทั้งคู่ได้ร่วมกันพัฒนาโครงการต่อหรือไม่ สู้ๆนะคะ….

เรื่องของ “คน” กับ “ผัก”
(ความเคลื่อนไหวคู่ บริษัท สวิฟท์ จำกัด และสหทัยมูลนิธิ)

เรื่องของ “คน” เตรียมโครงการ เตรียมแรงตัว เตรียมแรงใจ ลงมือทำ
เรื่องของ “ผัก” ลงดิน เติบโต ไปเที่ยวตลาด แล้วก็กลับบ้านกับคนรัก(ผัก)

การร่วมเดินทางในระยะเวลาสั้นๆ ที่ไม่ธรรมดาของคนกับผัก ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการร่วมมือกันพัฒนาโครงการ “ความร่วมมือพัฒนาพื้นที่เกษตรอินทรีย์” ระหว่าง บริษัท สวิฟท์ จำกัด และสหทัยมูลนิธิ นั้นทำให้คน (เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบโครงการ) ได้เรียนรู้ว่ากว่าจะมาเป็นผักปลอกสารพิษให้เราๆท่านๆ ได้ทานกันอย่างว่างใจนั้นต้องผ่านการจัดการหลายขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ที่เจ้าหน้าที่จากบริษัท สวิฟท์ จำกัด เข้ามาช่วยดูตลาด ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปลูกผักปลอดสาร จากนั้นก็ได้เวลาที่ต้องเริ่มลงมือปลูก การดูแลรดน้ำ ใส่ปุ๋ย (อินทรีย์) จนถึงการเก็บเกี่ยว ซึ่งในการปลูกรอบแรกนี้ต้องเหนื่อยกับการจัดการมากเพราะ คะน้า ผักบุ้ง กวางตุ้ง ที่ปลูกมีขั้นตอนการดูแลที่ยุ่งยาก ทั้งการปลูก การเก็บเกี่ยว และการเตรียมหน้าตาให้พร้อมก่อนถึงมือผู้ซื้อ และหลังจากการทดลองปลูกรอบแรกก็มีการสรุปบทเรียนสำหรับปัญหาที่พบว่า
•    ต้องเปลี่ยนชนิดของพืชที่จะปลูกใหม่เพื่อลดปัญหาเรื่องการจัดการ ทั้งเรื่องแรงงานและเวลา
•    ต้องมีการวางแผนเรื่องการจัดการน้ำที่จะใช้ในการทำเกษตร โดยขอคำปรึกษาจากบริษัท สวิฟท์ จำกัด
•    แก้ปัญหาแรงงานในการดำเนินโครงการโดยให้เด็กที่อยู่ในโครงการอื่นของมูลนิธิ เข้ามาเป็นอาสาทำงาน และอาจมีการแบ่งรายได้ให้เพื่อเป็นกำลังใจต่อไป

เราลองมาลุ้นกันนะคะว่า เรื่องของคนกับผัก Version 2 จะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ที่แน่ๆ ทางบริษัท สวิฟท์ จำกัด ก็คงต้องทำหน้าที่เป็นกูรู คอยประคับประคอง และหาแนวทางในการพัฒนาโครงการนี้ร่วมกันต่อไป ส่วนเดอะเนทเวิร์คก็ยังรอทานผักปลอดสารอยู่เสมอค่ะ….


ตำนานคู่….ความร่วมมือ..แห่งปี

(ความเคลื่อนไหวคู่บริษัท สยามแฮนดส จำกัด กับ มอส. หรือมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม)

เป็น คู่แรกสุดของปี 2553 และพบกันมากรอบที่สุดก็ว่าได้ นับตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทีมจาก มอส. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากเดอะเนทเวิร์ค นัดพบกับคุณอดิศร พวงชมภู แห่งบริษัท สยามแฮนดส จำกัด หรือที่คนไทยทุกรุ่นรู้จักผลิตภัณฑ์เสื้อยืดสีสดใสในแบรนด์ “แตงโม” ที่ยังคงยืนหยัดและได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศมาไม่น้อยกว่า 30 ปี

ในขณะที่ มอส. ก็มีเส้นทางที่ยาวนานบนนถนนแห่งการเป็นผู้ที่นำสิ่งดีๆ สู่สังคมมาถึง 30 ปีพอดีๆ ในปี 2553 นี้ เรียกว่าเป็นคู่ที่มีกระดูกมวยหรือประสบการณ์ในเส้นทางของตนเองไม่ยิ่งหย่อน ไปกว่ากัน จึงเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่เจ้าของกิจการเสื้อแตงโมจะได้นำความเชี่ยวชาญในเชิงธุรกิจและการตลาดมา ช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ มาช่วยเสริมจุดแข็งของ มอส. ให้แข็งแกร่งขึ้นในยุคสมัยที่กระแสสังคมไหลเชี่ยวอย่างรวดเร็วและพลิกผัน ในขณะเดียวกัน มอส. ยังคงอุดมการณ์ในการสร้างบุคคลากรที่จะมีบทบาททางสังคมในการขับเคลื่อน ประเด็นต่างๆ และอยากชักชวนให้หนุ่มสาวรุ่นใหม่มาสวมหัวใจอาสาสมัครเต็มเวลา นับเป็นความท้าทายอย่างมากที่ มอส. จะทำงานสวนกระแสความเคลื่อนไหวที่เป็นอยู่ และเป็นช่วงเวลาที่ มอส. จะต้องคัดแยกสิ่งที่ทำมาตลอดสามทศวรรษให้ถ่องแท้  มองธรรมชาติการทำงานและความเชี่ยวชาญขององค์กรให้ขาด  ค้นหาสิ่งที่สังคมต้องการให้พบ และตั้งปณิธานในจุดที่จะยืนนับจากนี้ให้แข็งแกร่งพอที่ฝ่ากระแสแห่งความ เปลี่ยนแปลงนี้ไปให้ได้

นับตั้งแต่นัดแรกที่ข้อคิด เรื่องเล่า และนิทานต่างๆ ถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างมากมายเพื่อแลกเปลี่ยนกันระหว่างสยามแฮนดสและมอส. สรุปเป็นประโยคสั้นๆ ที่เป็นเสมือนแรงเสริมกำลังใจในการบรรลุเป้าหมายด้วยการ “เอาความจริงมาดับความเชื่อ” จนถึงนัดล่าสุดที่พบกันเมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา แง่คิดและแนวทางเปรียบเทียบอันหลากหลายยังคงเปิดประเด็นให้ต้องกลับมาคิด ทบทวนว่าเป้าหมายที่ มอส. จะทำเนื่องในโอกาสที่ทำงานมาครบรอบ 30 ปีนั้น จัดอยู่ในสถานการณ์ใด ระหว่าง..

•    เรื่องสำคัญ เร่งด่วน
•    เรื่องสำคัญ ไม่เร่งด่วน
•    เรื่องไม่สำคัญ แต่เร่งด่วน
•    เรื่องไม่สำคัญ และไม่เร่งด่วน

หากไม่ติดวันหยุดยาวในช่วงสงกรานต์ เราก็อยากจะเชื่อว่าคู่นี้จะทำลายสถิติการพบกันบ่อยที่สุดอย่างแน่นอน .. ฟันธง!  !

งานเสวนา “การสร้างคุณค่าร่วมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Creating shared-value planet)

ผ่าน เข้าเดือนที่ 4 ของปี แฟนๆ ของเดอะเนทเวิร์คหลายท่านอาจเกิดความสงสัยว่าทำไมปีนี้จึงยังไม่มีการจัดงาน เสวนาเดอะ เนทเวิร์ค เหมือนเช่นทุกปี แต่ไม่ต้องแปลกใจนะคะ เพราะในปีนี้เราจะมีการจัดเวทีเสวนาที่เข้มข้น และเจาะลึกมากยิ่งขึ้น จึงต้องใช้เวลาในการเตรียมการนานกว่าปกติ

ท่านที่มีความสนใจในประเด็นใดเป็นพิเศษ กรุณาเตรียมเคลียร์คิวไว้ล่วงหน้า ซึ่งหัวข้อแรกที่จะนำมาเกริ่นเรียกน้ำย่อยคือเรื่องของเด็ก เยาวชน และครอบครัว ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมนี้แน่นอน และขอรับรองว่ารูปแบบของงานครั้งนี้ได้รับการดีไซน์เป็นพิเศษและน่าสนใจกว่า เดิม เนื้อหาเข้มข้นรอบด้าน เสวนาโดยผู้มีประสบการณ์ระดับแม่เหล็ก อัดแน่นด้วยคุณภาพตามสไตล์ของเดอะ เนทเวิร์ค และทั้งหมดนี้ติดตามได้ภายในงานเสวนา แล้วพบกันค่ะ…

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *