ครอบครัว: เรื่องสำคัญที่ไม่อยู่ในความสนใจ โดย ผศ. ดร. กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์

ครอบครัว: เรื่องสำคัญที่ไม่อยู่ในความสนใจ โดย ผศ. ดร. กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์

ผศ. ดร. กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์
สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันที่ 17 มิ.ย. 2553 ดิฉันมีโอกาสได้ไปร่วมงาน “การประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางปฏิรูปประเทศไทย” ที่ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในงานมีการเปิดเวทีเพื่อให้ผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วนได้มีโอกาสแสดงความคิด เห็น โดยมีเงื่อนไขเพื่อการบริหารเวลาอย่างมีประสิทธิภาพคือให้แต่ละคนได้พูด 2 นาที มีนาฬิกาจับเวลาพร้อมสัญญาณเตือนให้หยุด ปรากฏว่าผ่านไป 50 กว่าราย ไม่มีใครพูดถึงประเด็นปฏิรูปด้านครอบครัวเลยสักคนเดียว

ในช่วงที่ดิฉันมีโอกาสทำ โครงการด้านสังคมวัฒนธรรมให้กับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจสังคม แห่งชาติ มีงานส่วนหนึ่งว่าด้วยเรื่องของบทบาทครอบครัว ทีมของเราพบด้วยความประหลาดใจว่าประเทศไทยเราไม่มีนโยบายหรือวาระแห่งชาติว่าด้วยเรื่องครอบครัวเป็นการเฉพาะ เช่น ไม่ได้มีการกำหนดแผนว่าต้องการเห็นสภาพครอบครัวไทยเป็นไปในทิศทางไหนและจะมี การดำเนินแผนงานพัฒนาอย่างไร แต่นำเรื่องครอบครัวไปบรรจุไว้เป็นส่วนหนึ่งของมิติการพัฒนาประเทศในด้าน ต่างๆ ด้วยความที่เห็นถึงความสำคัญเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆ อยู่เป็นอย่างมาก เพราะเหตุนี้จึงถูกหลงลืมละเลยเอาได้ง่ายๆ เข้าตำราที่ฝรั่งว่า Take it for granted อะไรประมาณนั้น

หากจะพยายามหาเหตุผล คงต้องมองย้อนกลับมาที่ระดับบุคคลและความสัมพันธ์กับครอบครัว ก็จะพบว่าเรา ต่างล้วนรู้ดีว่าครอบครัวมีความสำคัญกับเรามากมาย แต่เมื่อถึงการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน เรากลับใช้เวลาไปกับการบริหารจัดการสิ่งอื่นๆ เช่น การงาน การเรียน การพบปะสมาคม มากกว่าจะใส่ใจจริงจังกับการบริหารจัดการครอบครัว  เช่นเดียวกันกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่นอกจากการทำงานให้บรรลุเป้าประสงค์แล้ว ยังมีการจัดการสันทนาการในหมู่พนักงาน และกิจกรรมแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในรูปแบบต่างๆ แต่มักจะมองข้ามเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว ด้วยเห็นว่าเป็นหน้าที่ที่แต่ละคนต้องดูแลรับผิดชอบของตัวอยู่แล้ว และเป็นส่วนที่มีความละเอียดอ่อนขึ้นกับเงื่อนไขของแต่ละบ้าน ยากต่อการจะเข้าไปเกี่ยวข้องได้ง่าย

อย่างไรก็ดี เรื่องครอบครัวนี้นับว่ามีส่วนเชื่อมโยงกับความสำเร็จขององค์กรอย่างสูง เพราะองค์กรขับเคลื่อนได้ก็ด้วยคน และคนที่จะมีความสามารถและวิสัยทัศน์นำพาองค์กรไปสู่ความรุ่งเรืองอย่างถูก ต้องงดงามได้ ย่อมมีพื้นฐานมาจากการปลูกฝังของครอบครัว แม้จะไม่ใช่ปัจจัยผลักดันทั้ง 100% แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นปัจจัยระดับเสาเข็มในกระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นอกจากนี้ ศักยภาพการทุ่มเททักษะความรู้ของพนักงานยังขึ้นอยู่กับความสามารถบริหาร จัดการเวลาในชีวิตอย่างลงตัว ซึ่งแน่นอนว่าเกี่ยวข้องกับเวลาที่จัดสรรให้กับครอบครัวด้วย เกิดเป็นการเรียกร้องถึงสมดุลของชีวิตการงาน ชีวิตส่วนตัว และครอบครัว หรือที่เรียก Work-Life Balance

เมื่อเข้าใจถึงความสำคัญ ของครอบครัวแล้ว องค์กรจะมีแนวทางบริหารจัดการกิจกรรมที่แสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมโดย เฉพาะด้านครอบครัวได้ก็ด้วย 2 แนวทางหลัก คือ 1) การดูแลครอบครัวพนักงาน และ 2) การดูแลครอบครัวอันเป็นหน่วยย่อยที่แสนสำคัญของสังคม

แนวทางแรกยังสามารถจำแนกออกเป็นหลายระดับ ตั้งแต่การดูแลครอบครัวพนักงานในระยะห่างๆ เช่น การจัดสรรวันหยุดวันลาให้เพียงพอที่พนักงานจะนำไปใช้ทำกิจกรรมร่วมกับครอบ ครัวได้ บางองค์กรอาจมีนโยบายรองรับพนักงานที่ต้องไปรับ-ส่งลูกที่โรงเรียน โดยจัดช่วงเวลางานให้เหลื่อมกันกับอีกกลุ่มที่ไม่มีภาระนี้ หรือบางองค์กรมีการจัดสรรทุนการศึกษาให้ลูกหลานพนักงาน การเอื้อทรัพยากร (เช่น เวลา เงิน) เหล่านี้ ก็เพื่อให้พนักงานสามารถนำไปถ่ายโอนส่งต่อให้กับคนในครอบครัวได้ต่อไป

ในระดับที่ใกล้ชิดกันเข้ามาหน่อย ก็ได้แก่องค์กรที่จัดให้พนักงานได้พาครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร เช่น การไปทำกิจกรรมสัมพันธ์ในต่างจังหวัด มีสาธารณูปโภค ที่ออกกำลังกาย ก็ให้ครอบครัวเข้ามามีสิทธิ์ใช้ด้วยได้ หรือช่วงปิดเทอมจัดค่ายเยาวชนอย่างที่เคยเห็นในบริษัทเชลล์ เหล่านี้นับเป็นการสร้างความคุ้นเคยผูกพันระหว่างครอบครัวพนักงานกับองค์กรให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

มองในทางธุรกิจก็น่าจะช่วยให้เกิดความภักดีต่อองค์กรสูงขึ้นตามไปด้วย ส่วนการดูแลครอบครัวพนักงานระดับใกล้ชิดสุดๆ ก็เช่น การให้พาลูกมาเลี้ยงที่ทำงานได้ หรือการเปิดสถานรับเลี้ยงเด็กที่ทำงาน ดังกรณีบริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่มีเดย์แคร์ในโรงงาน ช่วยลดภาระความกังวลใจของพ่อแม่ไปได้ ทำให้สามารถตั้งสมาธิในการทำงานได้ดีขึ้น

แนวทางที่สองได้แก่ การดูแลครอบครัวอันเป็นหน่วยย่อยของสังคม โดยไม่จำกัดเพียงครอบครัวของพนักงานเท่านั้น เช่น โครงการสานรักของ AIS ที่ส่งเสริมความรัก ความอบอุ่น และการดูแลกันในครอบครัว ซึ่งเรื่องนี้ต้องตีโจทย์ลงถึงระดับที่จับต้องได้ง่าย มากกว่าการพูดถึงหลักการภาพรวมที่เป็นที่รับรู้กันทั่วๆ ไป เช่น โครงการสานรักส่งเสริมการ “กอด” อันเป็นการถ่ายทอดความรักความผูกพันกัน เรื่องนี้นับเป็นส่วนที่ครอบครัวไทยหลายครอบครัวยังขาด คือมักเก็บไว้ในใจไม่ค่อยแสดงออกให้รับรู้ว่ารักและห่วงใยกันมากมายขนาดไหน

นอกจากนั้น การ ทำประเด็นครอบครัวยังควรคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงให้มากที่สุด โดยไม่ติดกับมายาคติครอบครัวพ่อแม่ลูกผูกพัน เพราะในความเป็นจริงอาจพบความรักในรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งแม่เลี้ยงพ่อเลี้ยงที่ดูแลลูกไม่ขาดตกบกพร่อง ปู่ย่าตายายที่รับบทบาททดแทนเพราะพ่อแม่ต้องไปทำงานที่ต่างถิ่น ครูอาจารย์ที่ กลายมาเป็นผู้อบรมบ่มนิสัยและผู้ส่งเสียลูก(ศิษย์) หาทุนให้เรียน กรณีเหล่านี้สมควรได้รับการบรรจุไว้ในการส่งเสริมนิยามความเป็นครอบครัวเช่น กัน

อาจกล่าวได้ว่าทัศนคติ ต่อความเป็นครอบครัวนับเป็นปฐมบทที่นำไปสู่การให้ความสำคัญและความสนใจต่อ ประเด็นการบริหารจัดการครอบครัวในสังคมไทยของเรา หากเราเข้าถึงแก่นความหมายที่แท้จริงของความเป็นครอบครัว จะพบว่าพนักงานทุกคนก็นับว่าเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน และองค์กรทุกหน่วย ต่างก็ล้วนเป็นสมาชิกครอบครัวใหญ่คือสังคมไทยของเรา หากมุ่งหวังความสำเร็จขององค์กรจึงต้องเริ่มจากการดูแลครอบครัวให้เข้มแข็งที่สุด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *