รายงานผลกิจกรรมเสวนา เล่นๆ เรียนๆ จากเกมส์บอร์ด สู่การเรียนรู้แบบโครงงาน

รายงานผลกิจกรรมเสวนา เล่นๆ เรียนๆ จากเกมส์บอร์ด สู่การเรียนรู้แบบโครงงาน

เสวนาเรื่อง เล่นๆ… เรียนๆ จากเกมบอร์ดสู่การเรียนรู้แบบโครงงาน

ภายใต้ โครงการกรุงเทพมหานคร ท้องถิ่นน่าอยู่แห่งความสุข

  1. หลักการและเหตุผล

สมาคมเครือข่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (The NETWORK) ร่วมกับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) พัฒนาโครงการ “เมืองน่าอยู่แห่งความสุข 2020” โดยหวังเห็นการทำงานด้านความรับผิดชอบที่ต่อเนื่องและยั่งยืน โดยมีพื้นที่พัฒนา 4 จังหวัด คือ พิษณุโลก ปทุมธานี ชลบุรี และ สงขลา  และในปีที่ 1 การพัฒนาโครงการเริ่มจากการศึกษาชุมชนในพื้นที่รอบคลังน้ำมันด้วยวิธีการศึกษาเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม เพื่อนำสู่การสร้างความร่วมมือในการวางแผนพัฒนาเมืองน่าอยู่ร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง และในกระบวนการพัฒนาเมืองน่าอยู่แห่งความสุข ได้ทำการศึกษาชุมชนในพื้นที่รอบคลังน้ำมันลำลูกกา ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมความร่วมมือด้วยการส่งเสริมให้คุณครูในท้องถิ่นพัฒนา“หลักสูตรท้องถิ่นจากโครงงาน” จากแหล่งความรู้ที่มาจากชุมชนและเกิดการบูรณาการไปกับวิชาต่างๆ ไปพร้อมกัน ซึ่งแนวคิดในหลักสูตรนี้จึงสอดคล้องกับเป้าหมายการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 คือการพัฒนาคนไทยให้เกิดคุณลักษณะพึงประสงค์ คือเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข เป็นการเตรียมพลเมืองให้กับสังคมจากการเรียนรู้ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ของหลักสูตรแกนกลางขั้นพื้นฐาน โดยมีแนวคิดการจัดการเรียนการสอนแบบไม่เน้นเนื้อหา แต่มุ่งส่งเสริมคุณค่า อันเป็นเป้าหมายการศึกษาคือ เพื่อการเตรียมเด็กและเยาวชนให้เป็น พลเมืองท้องถิ่น (อันเนื่องจากผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับท้องถิ่นของตนเอง และเกิดจิตสำนึกรักท้องถิ่น) พลเมืองไทย (อันเนื่องจากผู้เรียนมีพฤติกรรมที่เป็นแบบอย่างที่ดีของเยาวชนไทย และสร้างเครือข่ายจิตอาสาในท้องถิ่น) และ พลเมืองโลก (อันเนื่องจากผู้เรียนได้รับการพัฒนากระบวนการคิดและกระทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกับชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของโลกในปัจจุบัน)

คู่มือหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติมหน้าที่พลเมือง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ชื่อวิชา “คลองหกวายินดีที่รู้จัก” การเรียนรู้แบบโครงงานโดยใช้ปัญหาชุมชนไม่น่าอยู่เป็นฐาน เป็นหลักสูตรโดยใช้หลักการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานโดยใช้ปัญหาเกี่ยวกับชุมชนไม่น่าอยู่เป็นฐาน โดยการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อการเตรียมพลเมืองอย่างมีส่วนร่วมสู่การสร้างชุมชนน่าอยู่อย่างเป็นสุข โดย คุณครูและตัวแทนนักเรียนจำนวน 7 โรงเรียน ได้เข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่องจนจบหลักสูตร ผลจากการศึกษาวิจัยข้อมูลท้องถิ่นในอำเภอลำลูกการและการจัดกิจกรรมพัฒนาครู คือ การออกแบบหลักสูตรท้องถิ่น ในรูปแบบ “หนังสือคู่มือหลักสูตรรายวิชาเพิ่มหน้าที่พลเมือง และ บอร์ดเกม “คลองหกวายินดีที่รู้จัก”  และได้มีการการพิจารณารับรองหลักสูตรจากคณะกรรมการรับรองหลักสูตรอันประกอบด้วย ตัวแทนจากกระทรวงศึกษาธิการ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนผู้บริหารและครูจากโรงเรียน

การพัฒนาหลักสูตรและนำหลักสูตรนี้ไปทดลองใช้ สามารถสรุปขั้นตอนในแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้ 6 ขั้นตอน (Process 6 ขั้นตอนของ PBL) ดังนี้ 1) สำรวจปัญหาของชุมชนใน 4 มิติชุมชนน่าอยู่ (ปัญหาเชิงบวก และปัญหาเชิงลบ) 2) เลือกปัญหาของชุมชนที่อยากจะพัฒนาหรืออยากจะแก้ไขด้วยกระบวนการฉันทามติ 3) วิเคราะห์สาเหตุของปัญหาที่เลือก โดยวิเคราะห์ให้ถึงรากแห่งปัญหา รวมถึงปัจจัยและผลกระทบ 4) เสาะหาวิธีแก้ปัญหา ด้วยเครื่องมือ “ผังการวิเคราะห์ความรู้” 5) วางแผนการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ มีคุณภาพ และมีส่วนร่วม และ 6) ลงมือปฏิบัติ รวมถึงการกำกับติดตาม ประเมินผลเพื่อพัฒนาและนำเสนอสู่ชุมชน/สังคม อย่างสร้างสรรค์

ทั้งนี้เพื่อเป็นการเผยแพร่ชุดความรู้ของหลักสูตร และเกิดการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำไปสู่การเสนอแนะแนวทางในการขยายผลไปยังพื้นที่การศึกษาอื่น โดยเฉพาะโรงเรียนในสังกัด สำนักงานการศึกษาขั้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ  การนำคู่มือดังกล่าวไปประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนในโรงเรียน สู่การเกิดการศึกษาอย่างมี่สวนร่วมในอนาคต The NETWORK จึงร่วมกับคณะครูในโรงเรียนที่ร่วมพัฒนาโครงการในระยะเริ่มต้นทั้ง 7 โรงเรียน จัดงานเสวนาเรื่อง “เล่นๆ เรียนๆ จากเกมบอร์ดสู่การเรียนรู้แบบโครงงาน” โครงการกรุงเทพมหานคร ท้องถิ่นน่าอยู่แห่งความสุข ในงานเสวนานี้ผู้เข้าร่วมจะได้รู้จักคู่มือหลักสูตรท้องถิ่นภายใต้กรณีศึกษารายวิชาเพิ่มเติมหน้าที่พลเมือง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ชื่อวิชา “คลองหก วายินดีที่รู้จัก” ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องวิธีการพัฒนาการเรียนรู้แบบโครงงานโดยใช้ปัญหาชุมชนไม่น่าอยู่เป็นฐาน และ พูดคุยถึงเรื่องราวในคู่มือฯ และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การนำความรู้จากการอบรมไปประยุกต์ใช้ในโรงเรียน รวมถึงนำเสนอเรื่องราวในคู่มือฯ ให้ครูในสังกัด สพฐ และครูในสังกัดกรุงเทพมหานคร ได้เข้าใจถึงเนื้อหาในคู่มือดังกล่าวอย่างลึกซึ้งขึ้นด้วย

 

  1. วัตถุประสงค์

2.1 เพื่อทำความรู้จักหนังสือคู่มือหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติมหน้าที่พลเมือง จากกรณีศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ชื่อวิชา “คลองหกวายินดีที่รู้จัก” การเรียนรู้แบบโครงงานโดยใช้ปัญหาชุมชนไม่น่าอยู่เป็นฐาน

2.2 เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่องการออกบบกการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้แบบโครงงาน กรณีศึกษาวิชาหน้าที่พลเมือง ชุมชน/เมืองน่าอยู่ ลำลูกกา ด้วยการนำ Problem based Learning มาใช้

2.3 เพื่อร่วมกันศึกษาและค้นหาแนวทางการจัดการเรียนการสอนสู่การสร้างชุมชน/เมืองน่าอยู่ให้กับโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

 

  1. กลุ่มเป้าหมาย

3.1 คณะจัดกิจกรรมร่วม

ครูจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 7 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนเจริญดีวิทยา โรงเรียนชุมชนเลิศพินิจพิทยา โรงเรียนวงศ์ไพฑูรย์วิทยา โรงเรียนวัดคลองชัน โรงเรียนวัดประชุมราษฎร์ โรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธาราม และ โรงเรียนวัดแจ้งลำหิน

3.2 กลุ่มเป้าหมาย

  • ครูในสังกัดกรุงเทพมหานคร ที่สอนนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ ปีที่ 6 โรงเรียนละ 2 ท่าน
  • ครูในสังกัด สพฐ. ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
  • บุคคลทั่วไปที่สนใจเข้าร่วม

 3.3 รูปแบบกิจกรรม

ก. รูปแบบกิจกรรมแบ่งออกเป็น 2 โซน ประกอบด้วย

โซนที่ 1 นิทรรศการแสดงเรื่องราวพื้นที่และเรื่องราวในคู่มือหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติมหน้าที่พลเมือง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ชื่อวิชา “คลองหกวายินดีที่รู้จัก” การเรียนรู้แบบโครงงานโดยใช้ปัญหาชุมชนไม่น่าอยู่เป็นฐาน โดยระหว่างรอลงทะเบียนจะมีการจัดนิทรรศการแสดงเรื่องราวในเกมบอร์ด ชุมชนน่าอยู่ในปัจจุบัน “เกมคลองหกวายินดีที่รู้จัก” และ ประวัติศาสตร์พื้นที่ “เกมคลองรังสิต” พร้อมกับมีตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการสาธิตการเล่มบอร์ดเกม จัดก่อนกิจกรรมในโซน 2 จำนวน 1ชั่วโมง

โซนที่ 2 เวทีเสวนา หลังจากผู้เข้าร่วมลงทะเบียน เดินชมนิทรรศการ และนั่งประจำที่เรียบร้อยแล้ว จะมีการฉายตัวอย่างสารคดีเมืองน่าอยู่ ที่เคยออกอากาศทางช่อง ทรู ปลูกปัญญาให้กับผู้เข้าร่วมได้รับชม และหลังจากนั้นจะเป็นเวทีเสวนา ในหัวข้อ การเรียนรู้แบบใช้ชุมชนไม่น่าอยู่เป็นฐาน โดยใช้แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 6 ขั้นตอน (Process 6 ขั้นตอนของ PBL) ประกอบด้วย

  • สำรวจปัญหาของชุมชนใน 4 มิติ ชุมชนน่าอยู่ (ปัญหาเชิงบวก และปัญหาเชิงลบ)
  • เลือกปัญหาของชุมชนที่อยากจะพัฒนาหรืออยากจะแก้ไขด้วยกระบวนการฉันทามติ
  • วิเคราะห์สาเหตุของปัญหาที่เลือก โดยวิเคราะห์ให้ถึงรากแห่งปัญหา รวมถึงปัจจัยและผลกระทบ
  • เสาะหาวิธีแก้ปัญหา ด้วยเครื่องมือ “ผังการวิเคราะห์ความรู้”
  • วางแผนการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ มีคุณภาพ และมีส่วนร่วม
  • ลงมือปฏิบัติ รวมถึงการกำกับติดตาม ประเมินผลเพื่อพัฒนาและนำเสนอสู่ชุมชน/สังคม อย่างสร้างสรรค์

โดยมี รศ.ดร.วรรณา ประยุกต์วงศ์ และ ดร.บรรเจอดพร สู่แสนสุข เป็นผู้นำกระบวนการพูดคุย และมีคุณครูจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 7 โรงเรียน เป็นผู้ร่วมเล่าประสบการณ์

 

  1. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

4.1 ผู้เข้าร่วมเข้าใจการเรียนรู้ในรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นจากการทำโครงงานอย่างลึกซึ้ง

4.2 ครูจากโรงเรียนต่างๆ เกิดการนำกระบวนการเรียนรู้แบบโครงงานการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นไปบูรณาการใช้กับการเรียนการสอนในรายวิชาต่างๆ ในโรงเรียนของตนเอง

 

  1. ตัวชี้วัด

5.1 ตัวชี้วัดเชิงปริมาณ

ผู้เข้าร่วมจำนวน 200 คน ซึ่งประกอบด้วย

  • ครูที่เข้าร่วมโครงการ 7 โรงเรียน
  • ครูสังกัด สพฐ. ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
  • ครูสังกัดกรุงเทพมหานคร
  • บุคคลทั่วไป

5.2 ตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ

  • ผู้เข้าร่วมมีความเข้าใจการเรียนรู้ในรูปแบบโครงงานมากขึ้น (วัดจากแบบสอบถาม)
  • ผู้เข้าร่วมสามารถนำความรู้การเรียนรู้ในรูปแบบโครงการไปบูรณาการใช้ในการจัดการเรียนการสอนวิชาต่างๆที่โรงเรียนของตนเอง (ขอความร่วมมือจากกองการศึกษาประจำเขตในกรุงเทพมหานครในการติดตามประเมินผล)

 

  1. การประเมินผล

  • แบบสอบถามสำหรับประเมินผู้เข้าร่วมหลังเสร็จสิ้นกิจกรรม
  • ขอความร่วมมือกับกองการศึกษาเขตต่างๆในกรุงเทพมหานคร และ สพฐ. เพื่อติดตามประเมินผลการนำความรู้กลับไปบูรณาการใช้ในการเรียนการสอนวิชาต่างๆ

 

ดาวน์โหลดไฟล์รายงานผลได้ข้างล่าง

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *