เร็วๆนี้หลายคนคงได้ยินข่าววิกฤติปลาทูไทยจากอาหารคู่ครัวกลายเป็นของกินที่เริ่มหายากและมีราคาแพง อันเป็นผลมาจากการจับลูกปลาทูมากินกันอย่างแพร่หลาย จนเริ่มกลัวกันว่าปลาทูไทยกำลังจะหมดทะเล
ความจริงเรื่องการทำประมงเกินขนาดหรือการประมงที่ไม่ยั่งยืนนับเป็นปัญหาคุกคามสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลที่วิกฤติยิ่งกว่าขยะพลาสติกเสียอีก
การประเมินประชากรปลาทะเลทั่วโลกพบว่าเกือบ 90% ถูกจับมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่หรือจับกันจนเกินขนาดไปเรียบร้อยแล้ว ทำให้สัตว์น้ำไม่สามารถทดแทนประชากรได้ทัน ทั้งจากเครื่องมือผิดกฎหมาย เครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพจนนำไปสู่การจับเกินขนาด และการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน
ผลกระทบของการจับปลาเกินขนาดนำไปสู่การเสื่อมโทรมของระบบนิเวศทั่วโลก เพราะปลาเป็นกลไกสำคัญในการถ่ายทอดพลังงานและรักษาสมดุลของระบบนิเวศเช่นเดียวกับสัตว์ป่าในป่า
.
การส่งเสริมการบริโภคอาหารทะเลยั่งยืนจึงนับเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากๆ และผู้บริโภคเองมีบทบาทสำคัญในการไม่สนับสนุนสัตว์น้ำที่ไม่ได้ขนาด การปล่อยให้สัตว์น้ำได้โตเต็มวัยจนมีโอกาสได้ผสมพันธุ์เป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยให้สัตว์น้ำสามารถทดแทนประชากรที่ถูกจับมาได้ทัน
อาหารหลายอย่างที่มีการส่งเสริมกันเช่นลูกปลาทู ปูไข่ หมึกไข่ เป็นค่านิยมที่ทำให้มีการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน และสัตว์น้ำที่อยู่ในช่วงที่กำลังขยายพันธุ์ หากปล่อยให้สัตว์น้ำเหล่านี้โตได้ขนาด จะเป็นการเพิ่มมูลค่ามหาศาล และเท่ากับเป็นการอนุรักษ์ทะเลไทยไปในตัว
หากไม่ช่วยกันส่งเสริมการบริโภคอาหารทะเลอย่างรับผิดชอบ และยังปล่อยขยะออกสู่ทะเลปีละหลายพันล้านตัน ก็ไม่แปลกที่จะมีขยะพลาสติกในทะเลมากกว่าปลารวมกันทั้งมหาสมุทรในไม่อีกกี่สิบปีข้างหน้า ??
ภาพโดย Infographic Move
ป.ล. นอกเหนือจากสัตว์น้ำในภาพ ขอเพิ่ม หอยชักตีน อีกหนึ่งชนิด ขนาดที่แนะนำให้มีการนำมาบริโภคได้คือไม่ควรต่ำกว่า 6 ซม. ถ้าเล็กกว่านี้ควรปล่อยลงทะเลนาจา