เอี่ยมดีรีไซเคิล ซาเล้งแนวคิดใหม่ ชวนคนไทยเปลี่ยนขยะให้เป็นโอกาสและความสุข
ถ้าใครสักคนเอ่ยปากชวนให้มาร่วมมีความสุขผ่านขยะ เราจะคิดว่าเป็นไปได้ไหม ในเมื่อขยะคือสิ่งของที่มนุษย์ทุกคนมีส่วนร่วมสร้างขึ้นและต้องการผลักออกจากตัวให้เร็วที่สุด แต่สำหรับ สัมพันธ์ เณรรอด ผู้ประกอบการด้านการจัดการขยะ ‘เอี่ยมดีรีไซเคิล’ เขาสวมแว่นตาในมุมมองใหม่ เชื้อเชิญให้ผู้คนมองเหล่าซาเล้งในฐานะของพลเมืองจัดการขยะ ทั้งยังใช้การนำขยะกลับสู่ระบบรีไซเคิลสร้างโอกาสให้กับผู้ยากไร้และขาดโอกาสไปด้วยพร้อมๆ กัน
จากโปรดิวเซอร์รายการทีวีสู่คนเก็บขยะ
โดม–สัมพันธ์ เณรรอด เป็นชายหนุ่มรูปร่างสันทัด คำพูดคำจาของเขาบ่งบอกว่า เขาไม่ใช่คนเก็บขยะธรรมดา โดมเคยทำงานเป็นโปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ชื่อดังแห่งหนึ่ง และมีเงินเดือนระดับหกหลัก นั่นก็พอแล้วไม่ใช่หรือสำหรับความต้องการของมนุษย์ เราถาม “มีเงินแต่ไม่มีความสุข ไม่มีเวลาได้ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำเลย” เขาตอบเร็ว “ทุกวันนี้แม่กับเพื่อนหลายคนก็ยังต่อว่าอยู่ ว่าทำไมมาเลือกใช้ชีวิตแบบนี้” เขาหัวเราะ ยืนยันว่าไม่ได้เป็นทุกข์กับสภาวะที่คนรอบข้างจำนวนหนึ่งเป็นห่วงกังวล
โดยพื้นฐาน โดมเป็นคนชอบปฏิบัติธรรม เจริญภาวนา แต่เมื่อมีหน้าที่ความรับผิดชอบมากขึ้น ชีวิตที่เต็มไปด้วยตารางการประชุมพาเขาห่างไกลจากเส้นทางที่ต้องการมากขึ้นทุกที “การทำงานทีวีมันมีความคาดหวังมากจากหลายฝ่าย ชีวิตมีแต่ความเครียด” เขาบอกยิ้มๆ
ประสบการณ์การทำงานโทรทัศน์ทำให้เขาได้มีโอกาสไปดูงานด้านการจัดการขยะที่ประสบความสำเร็จหลายแห่ง รวมถึงธุรกิจรีไซเคิลขยะอย่างเป็นระบบที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยและเริ่มตระหนักว่าสนใจการทำงานเรื่องนี้ แต่โดมรู้ว่าการรับซื้อขยะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หากควรทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการลดขยะ จัดการคัดแยกขยะได้ตั้งแต่ระดับตนเองและครัวเรือน
เมื่อศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบ ทำให้รู้ไปอีกว่า แม้จะมีซาเล้งหรือร้านรับซื้อของเก่าอยู่จริง แต่ก็ยังไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค เขาจึงออกแบบธุรกิจการจัดการขยะขึ้นมาใหม่ด้วยการสร้างแบรนด์ให้มีความน่าเชื่อถือและนำเสนอความเป็นมืออาชีพในนาม เอี่ยมดีรีไซเคิล–มอเตอร์ไซค์พร้อมพื้นที่เก็บของด้านหลังที่ให้บริการรับซื้อขยะฟรีถึงบ้าน ร้านค้า และสำนักงานในจังหวัดเชียงใหม่ โดยแบ่งรายได้จำนวน 30 เปอร์เซ็นต์ ไว้ทำประโยชน์ให้แก่คนพิการ เด็กยากไร้ และคนด้อยโอกาสต่างๆ
“โดมเป็นคนอุตรดิตถ์ คนที่นั่นเรียกสะอาดว่าเอี่ยม สะอาดแล้วมันดีกับทุกคน คำว่าดีมันจำง่าย และธุรกิจที่ทำ เราก็คิดว่าดี เลยได้เป็น ‘เอี่ยมดี’ เอี่ยมความหมายแรกคือกายภาพ เก็บขยะแล้วเกิดความสะอาด ความหมายที่สอง คือ ผมทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ สร้างบ้านเด็กกำพร้ามานานมากตั้งแต่เรียนจบ เลยคิดว่าถ้าเราเปลี่ยนความหมายของผู้สร้างขยะให้กลายเป็นผู้ให้ เอี่ยมก็คือจิตใจของเขานั่นแหละที่จะเอี่ยมสะอาดขึ้น
“สำหรับคนทั่วไป ขยะไม่ใช่เรื่องน่าภาคภูมิใจ แต่เราอยากให้ขยะมีความหมายเป็นการให้โอกาส คนให้ก็ภูมิใจ คนรับก็ได้โอกาส”
เอี่ยมดี: ซาเล้งมืออาชีพ
โดมใช้ชีวิตกินนอนอยู่กับพี่น้องซาเล้งอยู่หลายปี นับตั้งแต่ตอนทำรายการทีวีต่อเนื่องมาจนถึงช่วงที่เขาเลือกจะทำธุรกิจเพื่อสังคมเกี่ยวกับการจัดการขยะ ด้วยการกิน นอน ไปคุ้ยขยะด้วยกันจริงๆ ทำให้เขามองเห็นภาพรวมของปัญหาขยะชัดเจนขึ้น
“ซาเล้งเป็นเรื่องของภาพลักษณ์ที่ไม่น่าให้เข้ามาเก็บของในบ้าน บางครั้งไปจัดการในบ้านเขาไม่ดี วางของเกลื่อน บางทีไปขโมยของเขามาอีก การไปเก็บในหมู่บ้านใหญ่ๆ นี่ไม่มีสิทธิ์เลย ยามไม่ให้เข้า ทั้งที่ขยะที่ดีคือขยะที่อยู่ต้นทางไม่ใช่ในถังขยะ อย่างวันนี้ที่เรามาเก็บขยะที่ร้านอาหารขนาดใหญ่ ซาเล้งจะไม่มีทางได้เลย เพราะร้านค้าไม่ดีลกับซาเล้ง แล้วขยะนี้ ถ้าขายอาจได้กำไร 200-300 บาท แต่ถ้าเขาไปเก็บขยะในถัง เกรดของขยะจะเป็นอีกอย่าง ทำให้ได้รายได้น้อยลง”
เมื่อศึกษาค้นคว้าอย่างลึกซึ้ง ในปัญหามีโอกาสซ่อนอยู่ โดมจึงสร้างเอี่ยมดีรีไซเคิลให้เป็นผู้จัดการขยะที่น่าเชื่อถือ ไว้วางใจได้ และบริการอย่างมืออาชีพ
“หัวใจสามอย่างของระบบคือ มีมาตรฐานราคา ตรงเวลา และเอี่ยม ไม่อย่างนั้นเราก็จะไม่ต่างจากซาเล้ง” เขาสรุปตรงประเด็น
ในแต่ละวัน ชาวเชียงใหม่จึงอาจพบเห็นชายคนนี้ในเสื้อยืดสีดำที่สกรีนคำว่าเอี่ยมดีบนหน้าอก พร้อมมอเตอร์ไซค์คู่ใจของเขาตระเวนรับขยะไปทั่วเมือง
“การทำงานแบบเอี่ยมดีจะทำให้เราเข้าถึงแหล่งขยะโดยตรงมากขึ้นโดยไม่ต้องคุ้ยขยะ”
นี่คือโอกาสแรกในการจัดการขยะโดยที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์
“ตอนนี้มีคนใช้บริการประจำเยอะ โรงแรมนี่ขยะเยอะมาก เป็นขยะที่ดี และจัดการขยะไว้ดีมาก บางแห่งเอาแม่บ้าน เอาคนจัดการขยะมาเวิร์กช็อปกับผมเลยนะ เพราะอยากพัฒนาเรื่องการจัดการขยะเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในตัวชี้วัดโรงแรม เขาอยากแยกให้ถูกต้อง ห้องเก็บขยะก็ออกแบบอย่างดี นี่คือตัวอย่างของคนที่อยากมีส่วนร่วมจัดการขยะ และเมื่อเราทำเรื่องเกื้อกูลสังคม มันทำให้คนอยากบริจาค อยากใช้บริการเรา เราเริ่มอยู่ได้ เพราะคนรู้จักเริ่มบอกต่อ มีคนบริจาคของเยอะขึ้น บางคนให้ฟรีเลย ขอแค่ให้บ้านเขาสะอาดขึ้นก็พอ”
เปลี่ยนขยะให้เป็นโอกาส
เมื่อเข้าถึงแหล่งขยะที่ดีมีคุณภาพและสะอาด ทำให้รายได้จากการขายขยะของเอี่ยมดีน่าสนใจกว่าใช้ปริมาณเข้าสู้แบบซาเล้ง นั่นทำให้เขามองเห็นโอกาสในประเด็นต่อมา เพราะคนทั่วไปอาจมองว่าซาเล้งคือคนที่หากินไปวันๆ แต่สำหรับโดม คนเหล่านี้คือพลเมืองจัดการขยะตัวจริงที่รัฐไม่เคยมองเห็นและให้ความสำคัญ หากมีการเสริมศักยภาพของซาเล้งในรูปแบบที่เอี่ยมดีทำ นั่นหมายความว่าเมืองจะมีมืออาชีพเรื่องการจัดการขยะเพิ่มขึ้นหลักร้อยคนทันที
“ซาเล้งคันหนึ่งเก็บขยะได้เป็นร้อยกิโลกรัมเลยนะ ถ้าซาเล้งหลายๆ คันช่วยกัน เท่ากับช่วยดึงขยะออกจากเทศบาลได้หลายตันเลย เพราะทุกวันนี้เชียงใหม่เรามีขยะมากถึงสองพันตันต่อวัน การที่ขยะหายไปก็เท่ากับเสียค่าจัดการขยะน้อยลง”
และก่อนจะไปถึงจุดนั้น เขาก็ส่งมอบโอกาสในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้พลเมืองจัดการขยะก่อน ทั้งเรื่องความปลอดภัย สุขอนามัย และการลดต้นทุนในชีวิตบางอย่าง
“ช่วงที่ใช้ชีวิตอยู่กับซาเล้ง คืนหนึ่งมีซาเล้งโดนคนขับรถเฉี่ยว เราคิดว่า แค่เสื้อกั๊กสะท้อนแสงสักตัวเขาก็ยังไม่มีใส่เลย ถ้าจะช่วยพี่น้องซาเล้ง เราต้องช่วยเรื่องความปลอดภัย เราซื้อเสื้อสะท้อนแสง ซื้อถุงมือยางให้ เพราะเขาต้องคุ้ยขยะ แล้วในอนาคตถ้าพอมีเงินอีกหน่อย จะซ่อมรถ ปะยางให้เขาฟรี โดยไปดีลกับร้านซ่อมรถเอาไว้ ถ้ารถซาเล้งที่มาขึ้นทะเบียนไว้กับเรา เกิดยางรั่ว ก็มาซ่อมที่ร้านนี้ได้ ไม่ต้องจ่ายเงิน เรื่องอาหารการกิน ถ้าข้าวแกงร้านนั้นส่งขยะให้เราอยู่แล้ว เราอาจขอส่วนต่างมาช่วยให้เขากินข้าวได้ถูกลง
“ตอนนี้ผมกำลังช่วยดูแลอยู่สองครอบครัว โดยมีเรื่องการตรวจสุขภาพเข้ามาด้วย ต่อไปเส้นสารภีอาจไม่ต้องทำเองแล้ว จะมีคุณลุงคุณป้าขี่รถเอี่ยมดีไปรับของ โดยดัดแปลงจากรถที่มีอยู่นั่นแหละ เราเชื่อในพลังของคนที่ด้อยโอกาสมาก่อน เราเห็นความพยายามที่จะคว้าโอกาสนั้นไว้ และใช้มันอย่างเต็มที่ เพราะที่ผ่านมา เขาไม่มีโอกาสไปรับของเซเว่นหรอก ทั้งที่กระดาษลัง กระดาษขาวดำเยอะมาก แต่ทุกวันนี้ คุณลุงคุณป้ามีหน้าที่ไปรับของจากเซเว่นสองสาขาทุกวันศุกร์ นี่เป็นโอกาสที่เขาไม่เคยได้รับและทำให้เขามีวินัยอย่างมาก”
นอกจากนี้ เงินรายได้จากการขายขยะ 30 เปอร์เซ็นต์ของเอี่ยมดีรีไซเคิลก็ถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของคนยากไร้และคนด้อยโอกาสต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เขาใช้ไปกับสถานดูแลเด็กกำพร้าที่เขาร่วมสร้างขึ้นที่จังหวัดเชียงราย
“คนในบ้านเก็บขยะขวดพลาสติกสามสิบกว่าขวดเท่ากับหนึ่งกิโลกรัม ได้เงินหกบาท อาจดูเหมือนน้อย แต่หกบาทก็หมายถึงดินสอสามด้ามสำหรับเด็กสามคนที่ใช้ได้หนึ่งเดือนเลย”
“เพราะโลกนี้ยังมีคนที่ไม่มีเงิน 2 บาทไปซื้อดินสออยู่จริงๆ เราใช้เงิน 30 เปอร์เซ็นต์นี้แหละซื้อสมุด ปากกา ดินสอ ส่งไปให้เด็กที่เขาต้องการ
“ผมมีร้านประจำที่เอาขยะไปขายอยู่สามสี่ร้านตามโซนต่างๆ ร้านเหล่านี้เขาพร้อมจะช่วย พร้อมจะทำบุญ บางร้านให้ราคาเพิ่มขึ้นเลย 30-50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขยะเราเป็นขยะมีคุณภาพ เขาจัดการน้อย ที่สำคัญคือเขามั่นใจได้ว่า เงินที่เราได้มามันไปไหน มันเป็นการทำบุญด้วยวิธีที่ง่ายที่สุดที่เขาจะมีส่วนร่วมได้ หรืออย่างลูกค้าตามบ้านก็เหมือนกัน พอเขารู้ว่าเราเอาเงิน 30 เปอร์เซ็นต์ไปทำอะไร เขาก็ไม่เอาเงินเลยก็มี”
สร้าง (พล) เมืองที่มีจิตสำนึกสาธารณะ
ดูเผินๆ งานที่เอี่ยมดีทำอาจเป็นแค่บริการรับซื้อขยะกลับสู่ระบบรีไซเคิล แต่เป้าหมายที่แท้จริงคือการยกระดับการเรียนรู้ให้กับผู้คนในสังคมได้รู้ว่า ปัญหาขยะแก้ไขจะได้ ต้องเริ่มต้นจากลดขยะในชีวิตให้ได้มากที่สุด ส่วนที่เหลือจากนั้นคือจัดการให้กลับคืนสู่การคัดแยกอย่างเป็นระบบ
“ทุกวันนี้คนมองว่าขยะไม่ใช่ภาระตน คือทุกคนผลิตขยะแต่ไม่พร้อมจะรับผิดชอบขยะที่ตัวเองผลิต เอี่ยมดีจึงต้องการเพิ่มความรู้ที่นำไปสู่ความเข้าใจและความรับผิดชอบ อย่างน้อยคือพฤติกรรมคัดแยก งานปลูกฝังนี้ต้องทำต่อเนื่อง เราต้องชวนคนมารู้สึกว่าเราไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบเรื่องขยะออกจากตัวได้ ตอนนี้เอี่ยมดีทำด้วยคนๆ เดียวให้ทุกคนเห็น เข้าไปจัดการขยะทุกๆ บ้าน แต่ถ้าทุกคนทำจากบ้านของตัวเอง ทุกคนจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อตัวเองได้จริง
“ปัญหาขยะมันจะไม่หนักเลยถ้าเริ่มที่ตัวเราเอง”
เร็วๆ นี้ เอี่ยมดีอาจขยายพื้นที่การคัดแยกขยะก่อนนำสู่ระบบรีไซเคิล เพราะทุกวันนี้เขาใช้วิธีรับซื้อขยะแล้วนำไปขายก่อนไปรับขยะแห่งใหม่ต่อ ด้วยข้อจำกัดของท้ายรถมอเตอร์ไซค์ การมีพื้นที่จัดเก็บขยะจะแก้ปัญหาได้หลายอย่างคือ สามารถแยกของใช้ที่ยังสภาพดีเพื่อเป็นสิ่งของบริจาค แยกขยะได้ละเอียดขึ้นซึ่งช่วยเพิ่มราคาของขยะได้มากขึ้น ที่สำคัญคือเป็นพื้นที่ให้คนพิการได้ใช้ศักยภาพสร้างประโยชน์ให้สังคมได้
“เราอยากมีพื้นที่คัดแยกและอยากนำผู้พิการมาทำงานคัดแยกขยะ เอี่ยมดีได้รับโอกาสความเมตตาจากทุกคนในเมือง แล้วเราก็มาส่งต่อโอกาส อยากทำให้พื้นที่มีทางลาดให้คนใช้วีลแชร์ทำงานได้ เราพร้อมจะลงทุนเรื่องนี้ อยากให้จุดที่เราทำเป็นศูนย์เรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจได้ อยากให้เห็นว่าคนที่ทำงานในระบบนี้ล้วนได้โอกาสหมดทุกคน”
วันนี้ ดูเหมือนเขาได้รับคำตอบแล้วเรื่องความสุขในชีวิต
“ในอนาคต ผมอยากให้เอี่ยมดีเป็นของทุกคน เราออกแบบธุรกิจนี้มาเพื่อนำไปสู่ความไม่มีตัวตน”
“เป็นธุรกิจที่ยิ่งได้ ยิ่งต้องปล่อย เพราะเราเชื่อว่าความยั่งยืนจริงๆ ต้องไม่กอดไว้กับตัวเอง แต่ต้องกระจายผลประโยชน์ให้คนได้ไปช่วยกันดูแลสังคม ทำให้ธุรกิจเป็นการแบ่งปันจริงๆ
“ส่วนตัวผมชอบเรื่องการปฏิบัติธรรม การภาวนา เคยเดินทางล้างพระธาตุ สถูปเจดีย์ตามวัดต่างๆ ด้วยมอเตอร์ไซค์คันเดียว กินนอนในป่าในเขา ล้างมาเป็นร้อยๆ พระธาตุจนเข้าปีที่สี่แล้ว ผมคิดว่านั่นคือหนทางในการขัดเกลาตัวเอง เป็นฐานที่นำชีวิตเราไปทางนั้น ถ้าพูดในเชิงธุรกิจที่ทำอยู่ ความสุขของผมคือการเห็นว่าระบบที่เราออกแบบนี้ มีคนทุกคนได้ประโยชน์ แล้วทุกคนก็มีความสุขในสิ่งที่ได้ทำร่วมกัน เกิดเป็นพื้นที่ของโอกาส ถึงจุดหนึ่งเราคาดหวังว่า สิ่งที่เราทำจะนำไปสู่การเรียนรู้ นำไปสู่การเป็นต้นแบบให้คนอื่นได้ในเรื่องการดูแลสังคมร่วมกัน”
เอี่ยมดีจึงเป็นเหมือนดอกไม้ที่แปลงขยะให้กลายเป็นความงดงามน่าชื่นชม เปลี่ยนความต่ำตมให้เป็นความหวัง และดูเหมือนเคล็ดลับความสุขของชีวิตก็อยู่ตรงนี้ อยู่ตรงที่เราจะเลือกมองสิ่งที่อยู่ตรงหน้า..ด้วยสายตาแบบใด
เอี่ยมดีรีไซเคิลให้บริการรับจัดการขยะที่บ้าน ร้านค้า และสำนักงานในจังหวัดเชียงใหม่โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เวลา 07.00-18.00 น. ทุกวันจันทร์–เสาร์ เนื่องจากวันอาทิตย์เป็นวันส่งมอบของบริจาคให้คนด้อยโอกาสต่างๆ จากรายได้ 30 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจ
ต้องการนัดหมายเพื่อจัดการรับขยะ ติดต่อล่วงหน้าได้ที่
FB: เอี่ยมดี รีไซเคิล
โทรศัพท์: 093-1329168
ภาพถ่าย: สโรชา อินอิ่ม