ธุรกิจที่สังคมต้องการ
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (1 พ.ค.) หน่วยงาน Shared Value Initiative ที่เป็นความริเริ่มของ Foundation Strategy Group (FSG)
องค์กรที่ปรึกษาไม่แสวงหาผลกำไร ซึ่งก่อตั้งโดย “ไมเคิล อี พอร์เตอร์” และ “มาร์ค เครเมอร์” ผู้ที่เป็นต้นตำรับแนวคิด CSV (Creating Shared Value) ได้จัดงาน Shared Value Leadership Summit ประจำปี 2018 ณ กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ขึ้นเป็นครั้งที่ 8 นับจากที่จัดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ.2011
หนึ่งในวิทยากรหลักในงานประจำปีนี้ ยังคงเป็น ไมเคิล อี พอร์เตอร์ ที่ขึ้นมากล่าวนำ ในหัวข้อ “Shared Value, Investors and Strategy” โดยพอร์เตอร์ระบุว่า ณ เวลานี้ คือ จุดพลิกผัน (Inflection Point) อย่างใหญ่หลวงที่เป็นผลจากแนวคิดคุณค่าร่วม มากกว่าตอนที่บทความ “Creating Shared Value” ได้ตีพิมพ์ในนิตยสาร ฮาร์วาร์ด บิสิเนส รีวิว เมื่อปี ค.ศ.2011 ด้วยซ้ำไป
พอร์เตอร์ มิได้ปฏิเสธว่า ในห้วงเวลาเจ็ดปีที่ผ่านมา มีแนวคิดดีๆ ที่มุ่งเป้าประสงค์ไปยังการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมมากมาย อาทิ Circular Economy, Net Positive, Triple Bottom Line ฯลฯ ซึ่งแนวคิดส่วนใหญ่เหล่านั้น นำเสนอถึงสิ่งที่ควรดำเนินการ แต่มิได้มี Playbook ที่แสดงให้เห็นว่า จะสามารถดำเนินการสิ่งเหล่านั้นอย่างไร ได้อย่างเป็นรูปธรรม
ในระดับองค์กร คุณค่าร่วม มิใช่แนวคิดที่เสนอให้ธุรกิจทำ “สิ่งที่ดี” หรือไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ตรงกันข้าม แนวคิดคุณค่าร่วมเสนอให้กิจการยังคงพุ่งเป้าที่การทำ “ธุรกิจ” แสวงหากำไร โดยใช้รูปแบบทางธุรกิจที่สามารถสร้างให้เกิดคุณค่าร่วมระหว่างกิจการและสังคมไปพร้อมกัน
คุณค่าร่วม จึงจัดเป็น “กลยุทธ์” ทางธุรกิจ สำหรับกิจการที่ต้องการได้มาซึ่งความได้เปรียบทางการแข่งขัน ด้วยการวางจุดยืนทางกลยุทธ์ (Strategic Positioning) และทำในสิ่งที่แตกต่าง มากกว่าการพัฒนาประสิทธิผลของการดำเนินงาน (Operational Effectiveness) และทำในสิ่งเดิมให้ดีขึ้น
ในระดับอุตสาหกรรม คุณค่าร่วม นำไปสู่การสร้างวิถีแห่งการแข่งขันที่ยกระดับจาก “Zero Sum” ไปสู่ “Positive Sum” คือ แทนที่ธุรกิจจะแข่งขันกันในแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ด้วยการห้ำหั่นราคา ในผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกัน และกับลูกค้ากลุ่มเดียวกัน ที่เมื่อบริษัทหนึ่งได้ อีกหลายบริษัทจำต้องเสีย กลายมาเป็นการแข่งขันโดยใช้กลยุทธ์คุณค่าร่วม ที่มีมากกว่าหนึ่งบริษัทสามารถได้ประโยชน์
การแข่งขันในแบบ Zero Sum ท้ายที่สุด นอกจากจะทำให้กำไรของบริษัทถูกลดทอนลงแล้ว ยังมีส่วนทำให้โครงสร้างของอุตสาหกรรมนั้นๆ อ่อนแอลงด้วย ขณะที่การแข่งขันในแบบ Positive Sum จะนำไปสู่การขยายฐานของกลุ่มลูกค้าที่ไม่เคยเข้าถึงบริการมาก่อน ความต้องการพื้นฐานของกลุ่มเป้าหมายได้รับการตอบสนองทั่วถึงยิ่งขึ้น และท้ายที่สุด มูลค่าโดยรวมของอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น
เนื้อหาอีกช่วงหนึ่ง ที่พอร์เตอร์นำเสนอไว้อย่างน่าสนใจ ในฐานะที่เขาเองก็ได้รับ Ph.D. in Business Economics คือ การยอมรับว่า แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์หลายเรื่อง ก่อให้เกิดการพัฒนาที่บิดเบี้ยว และส่งผลกระทบต่อสังคมมาจนถึงทุกวันนี้ หนึ่งในนั้น คือ เรื่องผลกระทบภายนอก หรือ “Externality” ที่หมายถึง ผลกระทบซึ่งมิได้ถูกคำนวณรวมอยู่ในธุรกรรมทางเศรษฐศาสตร์ ส่งผลให้ต้นทุนหรือราคาสินค้าและบริการ ไม่ได้สะท้อนถึงค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมของผู้ที่ก่อผลกระทบ เช่น น้ำทิ้ง หรือของเสียจากโรงงาน เป็นต้น
มุมมองต่อเรื่อง Externality นำไปสู่การตัดสินใจในเชิง Trade-off ที่ต้องเลือกระหว่างกำไรหรือต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า ธุรกิจจะต้องเลือกกำไรที่เพิ่มขึ้น และผลักภาระต้นทุนให้แก่สังคม
พอร์เตอร์ ให้มุมมองอีกด้านหนึ่งว่า เป็นเพราะกิจการนั้นๆ ต่างหาก ที่ดำเนินงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพตามที่ควรจะเป็น จึงได้มีของเสียหรือมลภาวะออกมาสู่ภายนอก ซึ่งหากกิจการพัฒนาวิธีการที่สามารถบริหารทรัพยากรและจัดการกระบวนการผลิตหรือกระบวนการอื่นๆ ในธุรกิจ จนไม่มีของเสียหรือของเหลือทิ้ง (หรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้) ต้นทุนในการจัดการผลกระทบสู่ภายนอกก็เป็นศูนย์ ในระยะยาว ธุรกิจจะมีกำไรเพิ่มขึ้น จากการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ และไม่จำเป็นต้องตัดสินใจในเชิง Trade-off อีกต่อไป
พอร์เตอร์ ย้ำว่า คุณค่าร่วม คือ คำตอบของการจัดการกับปัญหา Externality ที่สามารถยังประโยชน์ให้แก่กิจการและสังคม (รวมถึงสิ่งแวดล้อม) ควบคู่ไปพร้อมกัน
สำหรับท่านที่สนใจวีดิทัศน์บันทึกงานประชุมสุดยอด 2018 Shared Value Leadership Summit สามารถติดตามย้อนหลังได้ที่ https://summit.sharedvalue.org/
พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
ประธานสถาบันไทยพัฒน์ : คอลัมน์ Sustainpreneur : Email : sustainpreneur@gmail.com