3 ตัวช่วยการพัฒนาบทบาทธุรกิจ ที่ตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย และการยอมรับจากสังคมอย่างยั่งยืน

3 ตัวช่วยการพัฒนาบทบาทธุรกิจ ที่ตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย และการยอมรับจากสังคมอย่างยั่งยืน

ภาคธุรกิจมีทางเลือกเพิ่มขึ้นที่จะพัฒนาตนเองให้รับผิดชอบต่อสังคมที่ไม่ใช่เพียงการทำกิจกรรมเพื่อสังคม

ไทยพัฒน์ เปิดสโตร์ความยั่งยืน ตอบโจทย์ บจ. น้ำดี

ที่มา : http://www.thaicsr.com/2018/03/blog-post.html
ชี้ช่องการพัฒนาบทบาทธุรกิจที่สังคมยอมรับ

27 มีนาคม 2561 – สถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดตัว Sustainability Store หรือ ร้านค้าความยั่งยืน เสนอ 3 แนวทางการพัฒนาบทบาททางธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนที่ตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียและการยอมรับจากสังคมอย่างยั่งยืน

นับจากที่สถาบันไทยพัฒน์ ดำรงบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมความยั่งยืนของกิจการ และการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมผ่านการวิจัย (Research) การฝึกอบรม (Training) และการให้คำปรึกษา (Consulting) แก่ภาคเอกชน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 เรื่อยมาอย่างต่อเนื่อง จวบจนปัจจุบัน

ในปี พ.ศ.2561 นี้ สถาบันไทยพัฒน์ ได้นำเครื่องมือและประสบการณ์ที่ได้มีส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับองค์กรธุรกิจนานกว่า 17 ปี มาบรรจุไว้ในสามหมวดบริการหลัก ภายใต้ Sustainability Store ได้แก่ การจัดทำกรอบความยั่งยืน (S-Framework) การประเมินระดับความยั่งยืน (S-Score) และการวางกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งรายงานความยั่งยืน (S-Report)

S-Framework เป็นการศึกษาและทบทวนข้อมูลสถานภาพด้านความยั่งยืนในปัจจุบันของกิจการ เพื่อค้นหาประเด็นความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานขององค์กร แนวการบริหารจัดการ และตัวบ่งชี้การดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่สำคัญ สำหรับใช้ขับเคลื่อนองค์กรให้เข้าสู่วิถีการพัฒนาที่ยั่งยืน และใช้เป็นข้อมูลนำเข้าสำหรับการจัดทำยุทธศาสตร์องค์กรภายใต้บริบทความยั่งยืน

S-Score เป็นบริการที่ช่วยสอบทานสถานะความยั่งยืนของกิจการ โดยคำนึงถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่มที่องค์กรเข้าไปเกี่ยวข้อง ซึ่งมีความคาดหวังและความสนใจในเรื่องที่กิจการดำเนินการแตกต่างกัน รวมทั้งการวิเคราะห์เพื่อระบุถึงสิ่งที่องค์กรควรดำเนินการ (Gap Analysis) ในแต่ละกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อให้เกิดเป็นผลการดำเนินงานที่นำไปสู่การยอมรับของผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มต่างๆ

S-Report เป็นการวางกระบวนการรายงานที่ประกอบด้วยงาน 5 ระยะ (Prepare -> Connect -> Define -> Monitor -> Report) ตามข้อแนะนำขององค์การแห่งความริเริ่มว่าด้วยการรายงานสากล (GRI) ซึ่งเน้นการบูรณาการความยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์องค์กร เพื่อสร้างให้เกิดคุณค่าที่ตอบโจทย์ความยั่งยืนของกิจการจากกระบวนการรายงาน มิใช่เพื่อการมุ่งหวังเพียงแค่เอกสารหรือเล่มรายงาน

จากการสำรวจของสถาบันไทยพัฒน์ * ต่อการนำ GRI Standards มาใช้ในการจัดทำรายงานความยั่งยืนของกิจการ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 กับผู้ตอบแบบสอบถาม 87 ท่าน พบว่า ร้อยละ 67 จะนำมาตรฐาน GRI มาใช้ในรอบการดำเนินงานปี 2561 นี้ ร้อยละ 6 จะนำมาใช้ในรอบการดำเนินงานปี 2562 และร้อยละ 18 ต้องใช้เวลาเตรียมการอีกระยะหนึ่ง โดยผู้ตอบแบบสอบถาม อีกร้อยละ 8 ยังไม่แน่ใจ และร้อยละ 1 ไม่มีแผนนำมาใช้

ขณะที่ผลการสำรวจเรื่องการสนองตอบต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในการดำเนินงานขององค์กร พบว่า ร้อยละ 50 มีการบรรจุ SDGs ไว้เป็นวาระการดำเนินงานขององค์กร ร้อยละ 34 มีการตอบสนองในรูปโครงการ/กิจกรรมที่อยู่นอกกระบวนหลักทางธุรกิจ และร้อยละ 12 ได้เข้าร่วมในเครือข่ายธุรกิจที่เอื้อต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG-Friendly Biz) ที่สถาบันไทยพัฒน์ริเริ่ม ส่วนอีกร้อยละ 4 ยังไม่มีแผนในการตอบสนอง โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อริเริ่มแนวทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืน และอยู่ระหว่างการพิจารณาขององค์กร

นายวรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ กล่าวว่า ทั้งสามหมวดบริการหลัก องค์กรธุรกิจสามารถเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับสถานะของกิจการ เช่น กิจการที่มีการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนมาระดับหนึ่งแล้ว แต่ไม่แน่ใจว่า องค์กรของตนทำได้ดีเพียงใด เมื่อเทียบกับบรรทัดฐานหรือองค์กรข้างเคียงอื่นที่อยู่ในอุตสาหกรรม สามารถใช้ประโยชน์จากการประเมินระดับความยั่งยืน หรือ S-Score เพื่อทวนสอบเรื่องที่ดำเนินการว่ามีความครอบคลุมเพียงพอต่อการยอมรับของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง และสามารถนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายปลายทางที่เป็นความยั่งยืนของกิจการหรือไม่ เพียงใด

ส่วนกิจการที่คิดว่ามีการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนได้เป็นที่น่าพอใจแล้ว อาจใช้ประโยชน์จากการวางกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งรายงานความยั่งยืน หรือ S-Report เพื่อนำผลการดำเนินงานเหล่านั้น มาเปิดเผยตามมาตรฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เป็นการทวีคุณค่าของการดำเนินงาน ไปสู่การรายงาน เพื่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ

ขณะที่ กิจการซึ่งมีความสนใจที่จะริเริ่มดำเนินการเรื่องความยั่งยืนอย่างเป็นระบบ หรือเพิ่งเริ่มต้นดำเนินการและต้องการทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสมกับองค์กรตนเองตั้งแต่เริ่มแรก สามารถใช้ประโยชน์จากการจัดทำกรอบความยั่งยืน หรือ S-Framework เพื่อระบุรายการประเด็นความยั่งยืนที่ควรดำเนินการ ตามความพร้อมขององค์กรและบริบททางธุรกิจ เป็นต้น

หน่วยงานและองค์กรธุรกิจที่สนใจ สามารถแวะเยี่ยมเยียน Sustainability Store ทางเว็บไซต์ http://thaipat.org ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

————————————–
* ผลการสำรวจจากแบบสอบถามในงานแถลง “ทิศทาง CSR ปี 2561” และการเสวนาเรื่อง “มณฑลแห่งความยั่งยืน (The Sphere of Sustainability) จัดโดยสถาบันไทยพัฒน์ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2561

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *