SVOI เครื่องมือค้นหา “คุณค่าร่วม”

SVOI เครื่องมือค้นหา “คุณค่าร่วม”

การให้ความช่วยเหลือที่เป็นกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ CSR-after-process ในรูปของการบริจาคเพื่อการกุศลการให้เงินหรือวัตถุสิ่งของ หรือการอาสาสมัคร

ถือเป็นจุดนำเข้าในกระบวนการทำงานร่วมกับชุมชนหรือผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มเป้าหมาย แต่ผลที่เกิดขึ้นจากการทำงานโดยอาศัยการให้เงินหรือวัตถุสิ่งของโดยลำพัง อาจเป็นความสัมพันธ์ในลักษณะที่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากภายนอกตลอดเวลา หรือทำได้ชั่วครั้งชั่วคราว เนื่องจากเป็นงานอาสา โดยผลสะท้อนกลับอาจเกิดขึ้นในทางลบ หากการให้หรือความช่วยเหลือนั้นจำต้องยุติลงในวันหนึ่งวันใดข้างหน้า

การหาแนวทางการให้ความช่วยเหลือเชิงกลยุทธ์ จึงเป็นทางเลือกที่ถูกพัฒนาขึ้น สำหรับองค์กรธุรกิจที่ต้องการผลสัมฤทธิ์ที่เป็นความยั่งยืนจากการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม โดยคำนึงถึงการประยุกต์ใช้ความถนัดความเชี่ยวชาญของหน่วยงาน และการใช้โครงข่ายธุรกิจสนับสนุนการทำงานของชุมชนหรือผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มเป้าหมาย ในลักษณะที่ก่อให้เกิดการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจและสังคมไปพร้อมกัน

สำหรับหน่วยงานรัฐ มูลนิธิ หรือองค์กรสาธารณประโยชน์ ที่มีการดำเนินงานเพื่อสังคมตามภารกิจของหน่วยงานอยู่แล้ว ควรคำนึงถึงการใช้ทุนหรือทรัพยากรในการส่งมอบผลประโยชน์ให้ได้อย่างคุ้มค่า เพราะหากต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงกว่าประโยชน์ที่ส่งมอบ คุณค่าสุทธิที่สังคมได้รับจะติดลบ และสะท้อนให้เห็นถึงการขาดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ชุมชนหรือผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มเป้าหมายจะมีค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) ในการได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่นที่มีประสิทธิภาพกว่า

การระบุโอกาสในการสร้างคุณค่าร่วม หรือ Shared Value Opportunity Identification (SVOI) มีจุดมุ่งหมายในการค้นหาประเด็นสำคัญที่สามารถนำมาดำเนินการตามแนวทางการสร้างคุณค่าร่วม และริเริ่มกิจกรรมซึ่งมีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อยอดตามแนวทางการสร้างคุณค่าร่วม

วิธีการระบุโอกาสในการสร้างคุณค่าร่วม (SVOI) ประกอบด้วยกระบวนการใน 4 ขั้นตอน ได้แก่ (1) ทบทวนรูปแบบการให้ความช่วยเหลือที่ดำเนินอยู่ หรือ Review Existing Investments (2) พัฒนาภูมิภาพของประเด็น หรือ Develop a Landscape of Issues (3) คัดกรองประเด็นที่มีศักยภาพต่อการสร้างคุณค่าร่วม หรือ Screen Issues for Shared Value Potential และ (4) จัดลำดับความสำคัญของโอกาสในการสร้างคุณค่าร่วม หรือ Prioritize Shared Value Opportunities

กิจกรรมในขั้นตอนการทบทวนรูปแบบการให้ความช่วยเหลือที่ดำเนินอยู่ ประกอบด้วย การสัมภาษณ์ผู้ที่ริเริ่มแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมการให้ความช่วยเหลือในแต่ละความริเริ่ม (Initiatives) ที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน การประเมินการดำเนินความริเริ่มที่สามารถรวบรวมข้อมูลได้ โดยพิจารณาจากคุณค่าทางธุรกิจและทางสังคมที่ได้รับ การประมวลและหารือถึงข้อค้นพบจากการประเมิน ร่วมกับคณะทำงานขององค์กร

กิจกรรมในขั้นตอนการพัฒนาภูมิภาพของประเด็น ประกอบด้วย การหารือกับผู้บริหารระดับสูงในประเด็นที่เป็นความสำคัญยิ่งยวดทางธุรกิจและเชื่อมโยงกับประเด็นทางสังคม การวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างประเด็นทางธุรกิจและประเด็นทางสังคมตามที่ได้รับข้อมูลจากการหารือกับผู้บริหารระดับสูง และการจัดทำรายการประเด็นที่มีศักยภาพต่อการสร้างคุณค่าร่วม

กิจกรรมในขั้นตอนการคัดกรองประเด็นที่มีศักยภาพต่อการสร้างคุณค่าร่วม ประกอบด้วย การนำรายการประเด็นที่ถูกระบุว่ามีศักยภาพต่อการสร้างคุณค่าร่วม มาพิจารณาโดยใช้เกณฑ์คัดกรองหลัก และการใช้เกณฑ์คัดกรองเสริมในการกลั่นกรองประเด็นเพิ่มเติม (ถ้าจำเป็น)

กิจกรรมในขั้นตอนการจัดลำดับความสำคัญของโอกาสในการสร้างคุณค่าร่วม ประกอบด้วย การจัดทำเค้าโครงกิจกรรมซึ่งมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ พร้อมผลลัพธ์ทางธุรกิจและทางสังคมที่คาดว่าจะได้รับ และการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อร่วมกันกำหนดโอกาสในการสร้างคุณค่าร่วม 2-3 กิจกรรม

โดยสิ่งที่เป็นผลลัพธ์จากกระบวนการระบุโอกาสในการสร้างคุณค่าร่วม คือ ประเด็นสำคัญที่สามารถนำมาดำเนินการตามแนวทางการสร้างคุณค่าร่วม และกิจกรรมซึ่งมีศักยภาพที่จะพัฒนาได้ตามแนวทางการสร้างคุณค่าร่วม ซึ่งจะถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลตั้งต้นสำหรับการออกแบบความริเริ่มแห่งคุณค่าร่วม (Shared Value Initiatives) ที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์การดำเนินงานทั้งในทางธุรกิจและในทางสังคมไปพร้อมกันในระยะถัดไป

ทั้งนี้ ผลพลอยได้สำคัญ จากการใช้เครื่องมือ SVOI คือ การชี้ให้องค์กรเห็นว่า มีหลายโครงการ/กิจกรรม CSR ที่มีผลกระทบต่อสังคมน้อย ซึ่งสามารถยุบ/ควบ/รวม และทำให้ประหยัดงบประมาณ CSR ได้จำนวนมาก

เครื่องมือนี้ ได้ถูกนำไปใช้ในรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งเผยให้เห็นว่ามีโครงการ/กิจกรรมที่สามารถยุบ/ควบ/รวมกันได้มูลค่ากว่า 260 ล้านบาท และมีบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่อีกหนึ่งแห่ง ที่ใช้เครื่องมือนี้ ในการพิจารณาทบทวนโครงการ/กิจกรรม CSR ที่มีผลกระทบน้อย ซึ่งสามารถช่วยประหยัดงบประมาณลงได้อีกกว่า 300 ล้านบาท

พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ : คอลัมน์ Sustainpreneur : Email : sustainpreneur@gmail.com

ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/642186

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *