How to Initiate collaboration
จากการประชุมคณะกรรมการของสมาคมเครือข่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (The NETWORK) ได้มีข้อคิดจากท่านนายกสมาคม คุณชาญชัย พินทุเสน หรือลุงอ๋อยของพวกเรา ที่เป็นกัลยาณมิตรที่รักและเคารพนับถือกันมาเกือบ 20 ปี ท่านให้ข้อคิดว่า ก่อนทำการเชื่อมความร่วมมือระหว่างภาคส่วน เราควรตรวจสอบภาคีว่ามีสิ่งเหล่านี้หรือยัง
ความรู้ ในที่นี้ไม่เพียงแต่หมายถึงมีความรู้เฉพาะด้านที่จะพัฒนาอย่างลึกซึ้งเท่านั้น หากแต่ต้องมีความรอบรู้ในหลายๆด้าน ซึ่งเปรียบเสมือนนักรบที่มีอาวุธในมือ เมื่อถึงเวลาสามารถนำอาวุธหรือชุดความรู้ใดก็ได้มาใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เวลา และ โอกาส นอกจากความรู้แล้ว ประสบการณ์การทำงานก็นับเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะประสบการณ์จะช่วยลดความเสี่ยงในการล้มเหลวหรือผิดพลาดเมื่อพบกับปัญหาหรืออุปสรรคที่เข้ามาแทรกโดยไม่มีในแผนงานที่วางไว้ในตอนต้น
เป็นที่ยอมรับ ในการทำงานนั้นต้องอาศัยการยอมรับจากทุกภาคส่วนที่เข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องเห็นด้วยในเนื้อหาหรือข้อเสนอแนะที่เพื่อนคณะทำงานเสนอทั้งหมด และไม่จำเป็นว่าจะต้องให้ความร่วมมือกับทุกกิจกรรม เพราะการพัฒนาเมืองน่าอยู่จะประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความหลากหลายทางความคิด อันจะนำมาซึ่งวิธีการหรือกระบวนการพัฒนาที่หลากหลายรูปแบบตามไปด้วย
เตรียมความพร้อมในเรื่องของเหตุและปัจจัย เป็นสิ่งสำคัญลำดับต้นๆ ที่คณะทำงานหรือทีมงานต้องมี ซึ่งการเตรียมความพร้อมดีเท่ากับมีชัยไปกว่าครึ่ง แน่นอนว่าทุกครั้งก่อนเริ่มการทำงานทีมงานจะต้องมีการประชุมวางแผน มีการเตรียมงานกับคณะทำงานทุกคนเพื่อลงรายละเอียด และเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างทำงาน นอกจากการวางแผนแล้ว การเตรียมความพร้อมยังรวมไปถึง ความพร้อมของศักยภาพในการทำงานของคณะทำงาน ความพร้อมด้านทรัพยากร ทุน และอื่นๆ ให้พร้อมกับการทำงาน
ติดตามประเมินผล หลังจากการทำงานทุกกิจกรรม จำเป็นต้องมีการออกแบบการติดตามการทำงานและประเมินผล เพื่อนำไปสู่การพัฒนาโครงการที่ดีและมีศักยภาพ หรือตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากที่สุด