รู้จัก “นักวิใจ” ทั้งฤดูกาล……เรียน และ รู้ ไม่มีวันสิ้นสุด
เพราะเรื่องวิชาการอาจดูน่าเบื่อสำหรับบางคน จึงเป็นเหตุผลก่อเกิดสารคดีรายการ “นักวิใจ” ที่ให้ทุกคนได้สนุกไปกับวิธีคิดของนักวิจัย ซึ่งใช้หัวใจมองชุมชนต่างมุม โดยใช้ “ช่องทรูปลูกปัญญา” โทรทัศน์ความรู้คู่คุณธรรมที่รวบรวมทั้งเรื่องเรียน เรื่องเล่นไว้ในที่เดียวกัน มีจุดหมายในการเปิดพื้นที่สื่อเพื่อสังคม ด้วยเห็นว่าการสร้างสังคมที่ดีไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน
“นักวิใจ” เริ่มต้นด้วย ฤดูกาลที่ ๑ การเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วยแนวคิดที่ว่า “การเรียนรู้เพื่อนำไปใช้เรียนด้วยตัวเอง ได้เรียนรู้ในชีวิตจริง คือ นำไปใช้ประโยชน์” เป็นการเรียนรู้ด้วยวิธีอันหลากหลายและเรียนรู้สำหรับทั้งชีวิตด้วย ๓ หลักการสำคัญ คือ
๑. ผู้ให้ความรู้ ไม่ใช่ครูเพียงผู้เดียว แต่เป็นสถานที่ กิจกรรม บุคคลอื่น และตัวผู้เรียน
๒. เรียนรู้ผ่าน การลงมือทำ ที่มีความหมาย จากการแก้ปัญหา
๓. เรียนรู้จากการสรุปการเรียนรู้หลังลงมือทำ ด้วยการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน
ในฤดูกาลที่ ๑ นี้มีทั้งหมด ๑๓ ตอน โดยแบ่งเป็น ๕ ช่วง ดังนี้
ต้นฤดูกาล การเรียนรู้ของอาจารย์กับ กล้าที่จะสอน ด้วยตรรกะที่ว่า การเรียนรู้คงเริ่มต้นไม่ได้ถ้าไม่มีผู้ให้ความรู้ และครู/อาจารย์ก็อยู่ในฐานะผู้เรียนรู้ได้ด้วย การเรียนรู้จากการลงมือสอนเพื่อพัฒนาการสอนของตนเอง ย่อมแสดงให้เห็นถึงความ “กล้าที่จะสอน” เรื่องราว ๓ ตอนในต้นฤดูกาลจึงเป็นการชวนผู้ดูให้มาเรียนรู้กับอาจารย์เหล่าผู้กล้า
ตอนที่ ๑ กล้าที่จะสอน ชั้นสอนแบบเปิดของอาจารย์ชไมพร จากผลประโยชน์ส่วนตน สู่ผลประโยชน์สังคม
ตอนที่ ๒ กล้าที่จะสอน ชั้นเรียนของอาจารย์แม่ชีวุมิตติยา การบ้านทำไม ทำไมการบ้าน…
ตอนที่ ๓ กล้าที่จะสอน ชั้นสอนแบบเปิดของอาจารย์ธัญญาภรณ์ บทบาทสมมุติและการเรียนรู้ไม่รู้จบ
ครึ่งแรกฤดูกาล การศึกษาในระบบของเยาวชน กับ กระบวนการสร้างชุมชนน่าอยู่ ว่าด้วยผลสัมฤทธิ์การสอบทั้งในระดับชาติ ONET/ ANET และนานาชาติ PISA ของประเทศไทย ซึ่งนับเป็นปัญหาของการศึกษาในระบบของไทย ที่ทุกหน่วยงานต่างพยายามใช้ทรัพยากรต่างๆ เข้าแก้ไข แต่กลับลืมไปว่าผลสัมฤทธิ์การศึกษาไม่ได้วัดด้วยการสอบแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ความสามารถ ทักษะ และคุณธรรมจริยธรรม ตลอดจนความสุขในการเรียนรู้ก็เป็นผลสัมฤทธิ์การศึกษาซึ่งนำไปใช้ได้ตลอดชีวิต ช่วงครึ่งแรกฤดูกาลจึงเป็นการนำเสนอในชื่อวิชา “คลองหกวายินดีที่ได้รู้จัก” ในชั้นเรียนประถม ๕ ของ ๗ โรงเรียนบริเวณรอบคลองหกวา ที่ให้นักเรียนและคุณครูมาร่วมกันเรียนรู้แบบโครงการโดยใช้ปัญหาชุมชนไม่น่าอยู่เป็นฐาน เพื่อให้พวกเขาร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป ใน ตอนที่ ๔ – ตอนที่ ๙ จึงเน้นเรื่อง “ชุมชนน่าอยู่” โดยเริ่มต้นที่ การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านเกม ตามต่อด้วย การเรียนรู้แบบโครงการโดยใช้ปัญหาเป็นฐาน และ เสนอผลงานการแก้ปัญหา “คลองหกวายินดีที่ได้รู้จัก” เป็นการทิ้งท้ายครึ่งแรกฤดูกาล
กลางฤดูกาล เป็นเรื่องราวของ การศึกษานอกระบบของเยาชน กับ กระบวนการสร้างเมืองน่าอยู่ สร้างโจทย์จากช่วงปิดภาคการศึกษาที่นักเรียนบางคนให้เวลากับการพักผ่อนเพราะคิดว่าเป็นการหยุดเรียน ขณะที่บางคนยังเรียนรู้อยู่ ช่วงกลางฤดูกาลนี้จึงเป็นการถ่ายทำโดยเยาวชนชั้นมัธยมจากจังหวัดพิษณุโลกที่มาเข้าค่ายเพื่อร่วมเรียนรู้จักชุมชน พร้อมนำความรู้ไปใช้ค้นหาคนดีเพื่อร่วมสร้างชุมชนน่าอยู่ โดยนำเสนอถึง “เมืองน่าอยู่” ใน ตอนที่ ๑๐ ศึกษาชุมชนและค่ายเยาวชน “เมืองน่าอยู่” ให้เยาวชนได้เข้าค่าย “เมืองน่าอยู่อย่างเป็นสุข, “ผู้ตามปัจจุบัน ผู้นำอนาคต”, “แผนที่คนดี” ส่วน ตอนที่ ๑๑ คนดีเรืองแสงที่พิษณุโลก เป็น ค่ายสือ เมืองน่าอยู่, การถ่ายทำสารคดีของเยาวชน, งาน คนดีเรืองแสง ที่สวนชมน่าน พิษณุโลก
ครึ่งหลังฤดูกาล เป็น การเรียนรู้ของนักวิชาการ กับ กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมจากชุมชน สะท้อนว่านักวิชาการคืออาชีพที่อยู่กับการแสวงหาความรู้ และการวิจัยก็คือ การสร้างความรู้ผ่านการค้นหาคำตอบจากปัญหาที่เขาสงสัย พวกเขาจึงเรียนรู้ด้วยกระบวนการที่แตกต่างไป และการเรียนรู้จากการวิจัย จะสามารถทำด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมจากชุมชนได้หรือไม่ต้องติดตามใน ตอนที่ ๑๒ “การสร้างการมีส่วนร่วมจากชุมชนในงานวิจัย” เสียงสะท้อนจากนักวิชาการ
ส่งท้ายฤดูกาลที่ ๑ ใน ปลายฤดูกาล ตอนที่ ๑๓ “กระบวนการสร้างองค์กรน่าอยู่อย่างเป็นสุข” การเรียนรู้ของภาคเอกชน เป็นการเปลี่ยนมุมมองใหม่สำหรับคนที่จบการศึกษาแล้ว ด้วยการนำเรื่องราวของบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถของบรรษัทข้ามชาติสัญชาติไทย ปตท จำกัด (มหาชน) ที่พร้อมต่อการใช้ความรู้ และองค์กรแห่งนี้ยังสร้างการเรียนรู้เพื่อพัฒนาองค์กร ชุมชน ประเทศชาติให้น่าอยู่อย่างเป็นสุขด้วย
link…