ปฐมเหตุการเกิดชุมชนแออัดในเขตเมือง
โดย “ณัฏฐ์วสินทร์”
หากนิยามคำว่าบ้าน คือ สถานที่พักพิงของทุกคนในครอบครัว มีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมร่วมกัน และเป็นส่วนหนึ่งของการเกิดวัฒนธรรมชุมชน แล้วกระท่อมไม้หลังเล็ก ผนังผุพัง หลังคาสังกะสีเก่ามีคราบสนิมเกาะ สร้างซ้อนทับแทบแยกไม่ออกว่าในรัศมีเพียงไม่กี่ตารางเมตร นั้นจะมีผู้คนซึ่งแบ่งตามลักษณะกายภาพเป็นครัวเรือนอาศัยอยู่ร่วมกันกี่ครอบครัว และในหนึ่งครอบครัวมีประชากรอาศัยอยู่อย่างแออัดกันกี่ชีวิต สิ่งเกิดขึ้นนี้จะเรียกว่า “บ้าน” ได้หรือไม่ หรือเป็นเพียงสิ่งปลูกสร้างที่มีไว้สำหรับซุกหัวนอนเท่านั้น
ทั้งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้กัน ห่างเพียงผนังตึกกั้น แต่ความเป็นคนของผู้อยู่อาศัยได้ถูกสังคมแบ่งแยกจากกันอย่างไม่รู้ตัว พิจารณาได้จากการที่กระทรวงมหาดไทยได้ถอดความหมาย “กลุ่มคนจนเมืองที่อาศัยในพื้นที่แออัด” จากคำว่า “Slum” ตามคำจำกัดความของสหประชาชาติ ในปี พ.ศ.2503 ว่า “แหล่งเสื่อมโทรม” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการกีดกันความสัมพันธ์ของผู้คนสองกลุ่ม ระหว่างคนรวยกับคนจนเมือง ถึงแม้ต่อมาในปี พ.ศ.2523 การเคหะแห่งชาติจะเปลี่ยนมาใช้คำว่า “ชุมชนแออัด” แทนความหมายเดิมก็ตาม แต่กระทรวงมหาดไทยก็ยังพยายามขยายความเพื่อความชัดเจนอีกว่า เป็นสภาพเคหสถานหรือบริเวณที่พักอาศัยในเมืองที่ประกอบด้วยอาคารเก่าทรุดโทรมหรือสกปรกรกรุงรัง ประชากรอยู่อย่างแออัด ผิดสุขลักษณะต่ำกว่ามาตรฐานที่สมควร ทำให้การดำเนินชีวิตความเป็นอยู่แบบครบครันปกติวิสัยมนุษย์ ไม่อาจดำเนินไปได้เพราะไม่มีความปลอดภัยในสุขอนามัย ซึ่งการขยายความดังกล่าวไม่ได้แสดงออกถึงการมองภาพลักษณ์ของผู้คนในชุมชนแออัดดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเลยแม้แต่น้อย
หากลองย้อนกลับไปศึกษาความเป็นมาของชุมชนแออัด จะเห็นได้ว่าเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ ได้สร้างที่พักชั่วคราวให้กับพนักงาน ถึงแม้ต่อมาไม่มีการผลิตปูนซีเมนต์ในพื้นที่นั้นอีกแล้ว แต่พนักงานบางส่วนก็ยังลงหลักปักฐานสร้างบ้านเรือน ขยายครอบครัว และผู้คนอพยพเข้ามาอยู่อาศัย จนเกิดเป็นชุมชนเปรมประชาในปัจจุบัน ต่อมาเมื่อประมาณ 50 กว่าปีก่อน ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504 – 2509) ที่มุ่งเน้นการลงทุนก่อสร้างระบบเขื่อนชลประทาน พลังงานไฟฟ้า สาธารณูปโภค และการขนส่ง หรือเรียกได้ว่า “มุ่งความสะดวกสบาย น้ำไหล ไฟสว่าง” ทำให้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดในประเทศถูกนำมาใช้อย่างฟุ่มเฟือย เพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการผลิตเพื่อแสวงหาผลกำไรในยุคนั้น เมื่อการกระจายทรัพยากรกระจุกอยู่เพียงในเขตเมือง ส่งผลให้เกิดภาวะรวยกระจุกและจนกระจาย ประชากรจากภาคเกษตรที่ล้มเหลวอพยพหลีกหนีความจนเข้าสู่สังคมเมือง เพื่อมุ่งหวังเข้าให้ถึงโอกาส ซึ่งทางรอดเดียวที่มองเห็นในขณะนั้นคือเข้ามาเป็นลูกจ้างราคาถูกของภาคอุตสาหกรรมในเขตเมือง เมื่อผู้คนต่างอพยพจากสังคมชนบทที่ล่มสลายเข้ามาอาศัยอยู่รวมกันในเขตเมือง สร้างที่พักอย่างง่าย อาศัยอยู่ตามยถากรรม ทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างแออัด ทำให้สังคมเรียกขานพื้นที่แห่งนั้นว่า “สลัม” หรือ “ชุมชนแออัด” ในปัจุบัน ซึ่งจากการสำรวจของสำนักพัฒนาชุมชนเมือง ในปี พ.ศ.2546 พบว่าทั่วประเทศมีชุมชนแออัดมากถึง 5,500 ชุมชน จำนวน 1.5 ล้านครัวเรือน ประชากรประมาณ 6.75 ล้านคน ขณะที่ในกรุงเทพมหานครมีสลัมมากกว่า 1,000 แห่ง
ชุมชนแออัดจึงเป็นเสมือนแหล่งรวมของผู้ด้อยโอกาสจากทั่วสารทิศ เมื่อเกิดปัญหาต่างๆขึ้นมักถูกหมักหมม ยืดเยื้อยาวนาน จนลุกลามยากแก่การแก้ไขในที่สุด แม้แต่ปัญหาด้านกายภาพในชุมชนยังไม่ถูกแก้ไขให้หมดได้ นับประสาอะไรกับปากท้องและคุณภาพชีวิตของผู้คน ที่ต้องจมอยู่กับวัฏจักรความจน คือ โง่ จน เจ็บ “โง่” จากขาดการศึกษา “จน” จากการไม่มีงานทำและไม่มีรายได้ อันเนื่องมาจากการไม่ได้รับการศึกษา “เจ็บ” จากขาดโอกาสเข้าถึงบริการและสวัสดิการจากภาครัฐ เมื่อปัญหาทั้งด้านกายภาพ และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนแออัดยังไม่ถูกแก้ไขให้หมดไป คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คนในชุมชนก็คงเป็นเพียงภาพฝันที่อยากให้เกิดขึ้น ซึ่งไม่รู้แม้กระทั่งว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร อาจจะเกิดขึ้นเร็ววันในหนึ่งหรือสองปี หรือรอระยะยาวสิบ ยี่สิบ สามสิบ หรือร้อยปี ซึ่งผู้ที่จะให้คำตอบนี้ได้ดีที่สุดคือหน่วยงานทุกภาคส่วนในสังคมที่เข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหา ว่าจะมีความจริงจัง จริงใจ และทุ่มเท เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในฐานะเพื่อนที่เป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกันมากน้อยเพียงใด