ก้าวแรก เพื่อก้าวสู่ เมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน
ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ความเร่งด่วน รวดเร็ว ภายใต้ทุกสิ่งที่ถูกกระทำด้วยความเร่งรีบ เพื่อนำมาซึ่งเป้าหมายปลายทางที่ทุกคนต่างเรียกมันว่าความสะดวกสบาย ดูท่าว่าจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์ในทุกสังคมได้เป็นอย่างดี เพราะธรรมชาติของผู้คนโดยส่วนใหญ่แล้ว ต่างมุ่งแสวงหาความ ‘civilize’ ทั้งในด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่และสหวิทยาการล้ำยุค เพื่อตอบสนองความอยู่ดีมีสุขของตัวเอง เพราะคนทั่วไปยังไม่สามารถแยกแยะระหว่าง ‘ความอยู่ดีมีสุข’ กับ ‘ความสะดวกสบาย’ ออกจากกันได้อย่างชัดเจน ยังมองทั้งสองเรื่องซึ่งแตกต่างกันอย่างสุดโต่งว่าคือเรื่องเดียวกัน มองว่าการไปไหนมาไหนด้วยการใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาดีขึ้น มองว่าการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่สื่อสารกับผู้คนทั่วโลกแบบไร้พรมแดน คือความจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สังคมสมัยใหม่พึงมี โดยปล่อยให้เทคโนโลยีที่ชาญฉลาดค่อยๆ คืบคลานเข้ามาพร้อมกับกาลเวลาเพื่อรอวันกลืนกินความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม ครอบครัว ญาติพี่น้อง และเพื่อนฝูงไปทีละน้อยตามเวลาการหมุนรอบตัวเองของโลก
เมืองน่าอยู่ก็เช่นกัน ถึงแม้จะมีนักวิชาการหรือผลงานวิจัยต่างออกมาให้ความหมายของคำว่า “น่าอยู่” ของเมืองหรือชุมชนในมิติที่หลากหลายและแตกต่างกัน ตามความรู้ ความเชื่อ หรือหลักสมมติฐานที่ผ่านการทดลองอย่างเชี่ยวชาญของแต่ละสำนัก ซึ่งคำตอบไม่ได้มีแค่สองทางเลือกว่า ถูก หรือ ผิด ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่า ความน่าอยู่ในนิยามหรือภาพฝันจะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนในแต่ละ สังคมได้มากน้อยเพียงใด เพราะแน่นอนว่าทุกสังคมมีอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ความเชื่อ และรสนิยมในการใช้ชีวิตตามวิถีที่สืบทอดต่อกันมาด้วยภูมิหลังที่แตกต่าง เพราะฉะนั้นการจะสร้างเมืองสักเมืองเพื่อนำไปสู่การเกิดความน่าอยู่ ย่อมต้องคำนึงถึงความพร้อมของทรัพยากรในพื้นที่ และการสนองตอบความต้องการของผู้คนเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่การยัดเยียดเมืองสำเร็จรูปสู่ชุมชนท้องถิ่น ที่บางครั้งไม่เพียงแต่ไม่เป็นประโยชน์ หากแต่ยังสร้างปัญหาให้กับชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ ในภายหลังอีกด้วย
เมื่อปัจจัยการใช้ชีวิตและความต้องการของผู้คนถูกยกให้เป็นตัวกำหนดความ น่าอยู่ของเมือง การสร้างเมืองน่าอยู่จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาค ส่วนในสังคมนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือในหน่วยย่อย คือ บ้าน วัด โรงเรียน รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของหน่วยใหญ่ คือ ภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งทุกคนต้องร่วมมือกันพัฒนาพื้นที่ของตัวเองภายใต้ความศรัทธาที่ว่า “เพราะที่นี่คือบ้านของพวกเรา”
การพัฒนาโครงการเมืองน่าอยู่ในพื้นที่เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ได้กำหนดความน่าอยู่ของเมืองตามสภาพแวดล้อม และความเป็นอยู่ของผู้คน เป็น 5 มิติ ประกอบด้วย มิติสังคม มิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม มิติสุขภาวะ และ มิติพื้นที่สาธารณะสู่การสร้างสรรค์กิจกรรมภายในชุมชน เพราะเชื่อมั่นว่านอกจากปัจจัย 4 ที่มนุษยชาติพึงมีและมีสิทธิได้รับอย่างเท่าเทียมกันแล้ว ย่อมมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดียิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุขของผู้คน ตลอดจนความน่าอยู่ของเมืองในที่สุด โดยมิติความน่าอยู่ทั้ง 5 ด้าน สอดคล้องกับกรอบการพัฒนาเมืองน่าอยู่ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สคช.) หรือ “สภาพัฒน์” ที่กำหนดแนวทางเพื่อนำไปสู่การเกิดเมืองน่าอยู่ในประเทศไทยว่า 1.) ประชาชนต้องอยู่ในเมืองนั้นด้วยความผาสุข 2.) เมืองจะต้องมีบริการพื้นฐานที่สะดวกสบาย พอเพียงและทันต่อเวลา 3.) ประชาชนต้องมีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ 4.) มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งเป็นโจทย์ยากที่ทุกฝ่ายในสังคมจะต้องช่วยกันตีให้แตก และร่วมกันดำเนินการตามแนวทางด้วยการลองผิด ลองถูก โดยไม่มีการกำหนดแนวทางที่ตายตัว เพราะการพัฒนาที่มีคุณภาพนั้นต้องอาศัยความยืดหยุ่นสูงในการปรับให้เข้ากับ บริบททรัพยากรในพื้นที่ เพื่อมุ่งหวังว่าสักวันหนึ่งชุมชน สังคม หรือเมืองของพวกเราจะก้าวสู่ความน่าอยู่ภายใต้กรอบการดำเนินชีวิตที่อิสระ และผาสุขในอนาคตอันใกล้
โครงการเมืองน่าอยู่ในพื้นที่เขตราชเทวี นอกจากอาศัยการมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายต่างๆ ในพื้นที่แล้ว ยังชักชวนชุมชนในฐานะเจ้าของบ้าน เพราะเป็นผู้อยู่อาศัย ทราบสถานการณ์จริง และประสบปัญหาต่างๆ จากรุ่นสู่รุ่น เข้ามาร่วมออกแบบความน่าอยู่ของชุมชนที่อยากให้เกิดขึ้นในบ้านของตัวเอง โดยส่งเยาวชนรุ่นลูกหลานเป็นตัวแทนในการขับเคลื่อน เป็นกระบอกเสียงและทำหน้าที่ประสานงานระหว่างหน่วยงานภายนอกกับบุคคลภายใน ชุมชนของตัวเอง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาชุมชนท้องถิ่น พัฒนาบ้านเกิด พัฒนาพื้นที่ทำกิน และพัฒนาที่อยู่อาศัยให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน
เยาวชนตัวแทนของแต่ละชุมชนล้วนเป็น Active Citizen หรือ พลเมืองผู้ตื่นรู้ มีความกระตือรือร้นในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และมีจิตสำนึกสาธารณะในการอาสาพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง โดยพวกเขาทุกคนมีภารกิจสำคัญ คือ ต้องเข้าร่วมค่ายอบรมทั้งหมด 4 ครั้ง เพื่อนำความรู้ และประสบการณ์กลับไปพัฒนาชุมชนของตนเอง ด้วยมุมมองหรือทัศนคติเชิงบวก ที่พวกเขาจะค่อยๆ ซึมซับจากทุกกิจกรรมที่เข้าร่วม และนำกลับไปต่อยอด ถ่ายทอด และสื่อสารให้กับทุกคนในชุมชนได้รับรู้ต่อไป
ค่ายเยาวชนครั้งที่ 1 “ก้าวแรก ก้าวย่างแห่งการเรียนรู้ สู่การพัฒนาบ้านเกิดให้เป็นชุมชนที่น่าอยู่และมีความสุข” จากประสบการณ์ความรู้ครั้งใหม่เกิดขึ้นภายใต้การเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่งแค่ ในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้า เพดานสูง ถูกแวดล้อมด้วยผนังสีขาว โต๊ะ เก้าอี้ และกระดานดำหน้าชั้นเรียน กิจกรรมครั้งนี้เป็นบทพิสูจน์หน้าใหม่ที่ฉีกทุกกฎความเชื่อของการแสวงหาความ รู้แบบเดิม ที่ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะในห้องเรียนที่เยาวชนส่วนใหญ่คุ้นชินเพียงเท่านั้น หากแต่สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่มีเงื่อนไขข้อจำกัดทางโอกาส เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และในทุกสถานที่ ขอเพียงตัวเยาวชนพร้อมเรียนรู้ และเปิดรับโดยปราศจากอคติ ไม่ติดกับดักการเรียนรู้และความกลัว
การรวมตัวของเยาวชนอายุระหว่าง 12 – 20 ปี กว่า 93 คน จาก 25 ชุมชน ในพื้นที่เขตราชเทวี ผ่านการจัดการเรียนรู้แบบไป – กลับ 2 วัน ระหว่างวันเสาร์ – อาทิตย์ ที่ 16 – 17 พฤษภาคม ภายใต้กิจกรรมค่าย “เยาวชน พลเมืองจิตอาสา แห่งศตวรรษที่ 21 เท่าทันการบริโภค” ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายต่างๆในพื้นที่โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ พัฒนาพื้นที่เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คน ภายใต้บริบทสังคมที่น่าอยู่ อาทิ สำนักงานเขตราชเทวี กลุ่มคนรักษ์อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และ สมาคมเครือข่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงกลุ่มอาสาสมัครจากหลากหลายสาขาอาชีพ ที่ร่วมกันอำนวยความสะดวกและสร้างสรรค์กิจกรรมให้แปลกใหม่ น่าสนใจ มีความหลากหลาย และสอดแทรกสาระความรู้ที่เยาวชนสามารถนำกลับไปต่อยอด พัฒนา หรือปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้
โดยรูปแบบกระบวนการที่นำมาใช้ ไม่ใช่การอบรมด้วยการบรรยายหน้าห้อง แต่เป็นการถ่ายทอดความรู้ผ่านรูปแบบเกม 9 กิจกรรม ซึ่งทำให้เยาวชนเกิดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่ ฝึกการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง เรียนรู้การทำงานเป็นทีมอย่างสร้างสรรค์ และได้บทเรียนจากประสบการณ์ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งสอดรับกับวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ คือ การร่วมกันทำกิจกรรมไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างเยาวชนจาก ชุมชนต่างๆของเขตราชเทวีเท่านั้น หากแต่ยังได้เห็นศักยภาพของเยาวชนที่รอการพัฒนาไปสู่การเติบโตเป็นพลเมือง แกนนำในการพัฒนาชุมชนต่อไปในอนาคต ส่วนเยาวชนจะเกิดจิตสำนึกสาธารณะ และมีประสบการณ์จิตอาสาพัฒนาชุมชนของตนเองหรือไม่นั้น คงต้องอาศัยเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ เพราะเรายังเหลือกิจกรรมค่ายในการหล่อหลอมเยาวชนอีกถึง 3 ครั้ง โดยระหว่างทางของการก้าวเดินไปสู่บันไดขั้นต่อไป เยาวชนสามารถเลือกค่ายย่อยตามความสนใจ เพื่อนำไปเป็นแรงบันดาลใจสู่อาชีพในฝันของตัวเองด้วย 8 ค่ายทางเลือก ประกอบด้วย 1.) ค่าย “More film” 2.) ค่าย Land Design 3.) ค่าย Art Space หรือค่ายศิลปะ 4.) ค่าย Film Café หรือค่ายหนังเพื่อขับเคลื่อนสังคม 5.) ค่าย Write Club หรือค่ายนักเขียน 6.) ค่าย Stage Performance Art หรือค่ายการแสดง 7.) ค่าย Silicon Valley หรือค่ายสำหรับผู้สร้างโครงการเพื่อสังคม และ 8.) ค่าย Nobel Island หรือค่ายวิชาการ
เรื่องราวการเรียนรู้ทั้งหมดในครั้งนี้เป็นเพียงก้าวแรกสำหรับการเดินทาง ของเยาวชนเขตราชเทวี โดยมีเป้าหมายปลายทางสำคัญคือการพัฒนาบ้านเกิดของพวกเขาให้ก้าวสู่ชุมชนที่ น่าอยู่และมีความสุข ซึ่งรูปแบบกิจกรรมจะเป็นอย่างไรนั้น เตรียมตัวพบกับก้าวที่สองของพวกเขาในค่ายครั้งต่อๆไป
สมารถติดตามรายงานถอดบทเรียนการเรียนรู้ และ วิดีโอสรุปกิจกรรม ค่าย “เยาวชนพลเมืองจิตอาสา แห่งศตวรรษที่ 21 เท่าทันการบริโภค” ได้เร็วๆนี้
โดย “ณัฏฐ์วสินทร์