บทความเมืองน่าอยู่ ตอน ความแตกต่างของความน่าอยู่
“เพราะชุมชนไม่ใช่การอยู่อาศัยเพียงลำพังของใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นการอาศัยอยู่ร่วมกันของผู้คนหลากหลายกลุ่มอาชีพ มีความแตกต่างกันของภูมิที่มา เพราะฉะนั้นทุกๆด้านของการพัฒนาจึงจำเป็นต้องค้นหาความพร้อมและศักยภาพของทรัพยากรในพื้นที่ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ก่อนเกิดการพัฒนา และสำคัญยิ่งไปกว่านั้นคือต้องคำนึงถึงขีดความสามารถในการตอบความต้องการของคนส่วนใหญ่ในชุมชนด้วย”
ในโลกยุคโลกาภิวัฒน์ได้เกิดปรากฎการณ์การเปลี่ยนแปลงใหม่ขึ้นมากมาย หากย้อนกลับไปสักหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เชื่อว่าไม่มีผู้ใดในยุคนั้นจะพยากรณ์ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงในยุคนี้จะมีวิวัฒนาการที่รวดเร็วและนับวันยิ่งทวีคูณมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสารไร้พรมแดน ระบบขนส่งที่รวดเร็ว ทางเลือกการศึกษาที่หลากหลาย และการค้นหาความรู้ใหม่แบบไม่มีขีดจำกัด ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นผลมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ถูกสร้างสรรโดยมนุษย์เพื่อสนองตอบความต้องการของตนเอง และกระจายแทรกซึมเข้าสู่ทุกระดับชั้นของสังคม
ความทันสมัยภายใต้สังคมที่ถูกแวดล้อมด้วยสิ่งเร้าแห่งความสะดวกสบายต่างๆ ที่มนุษย์สัมผัสแทบจะทุกกิจกรรมในชีวิตประจำวันนั้น แท้จริงแล้วเป็น “ความเคยชิน” “ภาวะจำยอม” หรือ “ความน่าอยู่” ที่ทำให้พวกเขาอยู่ร่วมกับสิ่งเหล่านั้นได้จนกลายเป็นวิถี
ไม่ว่าคำตอบของการอยู่ร่วมกันในสังคมจะเป็นข้อใดก็ตาม แต่เชื่อแน่ว่าสิ่งที่ยึดเหนี่ยวและทำให้ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขนั้นคือ “ความน่าอยู่ของสังคมนั้นๆ” และเมื่อพูดถึงความน่าอยู่ แน่นอนว่าในแต่ละสังคมย่อมมีความต้องการที่แตกต่างกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หากถามถึงภาพของเมืองน่าอยู่หรือสังคมในฝันของผู้คนต่างพื้นที่กัน แล้วจะได้คำตอบที่สะท้อนความต้องการของผู้อยู่อาศัยที่หลากหลาย และแน่นอนว่าต่างพื้นที่กันย่อมได้คำตอบที่แตกต่างกัน ดังตัวอย่างของโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเมืองน่าอยู่ ของสมาคมเครือข่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยการสัมภาษณ์ผู้นำชุมชนซึ่งมีประสบการณ์ด้านการพัฒนามาเป็นเวลานาน จำนวน 32 ชุมชน จากทั้งหมด 64 ชุมชน ในเขตเทศบาลนครพิษณุโลก โดยมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของคำตอบ ไม่ได้มองว่าการพัฒนาด้านวัตถุว่าจะนำไปสู่ความน่าอยู่อย่างยั่งยืนได้ แต่กลับมองว่าการพัฒนาคน (การมีสว่นร่วม รักสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูล และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน) ในพื้นที่ต่างหาก ที่จะนำไปสู่ความน่าอยู่ของสังคมได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ภาพ เวทีร่วมสร้างพิษณุโลกเมืองน่าอยู่ (เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมุมมองความน่าอยู่ของชุมชน)
การพัฒนาด้านกายภาพหรือวัตถุก็สำคัญไม่น้อยไปกว่าการมุ่งเน้นพัฒนาคน เพราะต้องอาศัยรูปแบบการทำงานที่ละเอียดอ่อน นั่นหมายความว่าการพัฒนาเมืองน่าอยู่ไม่มีสูตรสำเร็จรูปดังเช่นสูตรอาหาร ที่จะสามารถนำไปใช้ได้เลยในทุกพื้นที่ แต่ต้องอาศัยการปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ด้วย ดังเช่น The School of Life ได้นำเสนอคลิปวิดีโอชื่อ “How to make an attractive city” ซึ่งถ่ายทอดปัจจัยพื้นฐานสู่การเป็นเมืองที่มีเสน่ห์ว่า ต้องประกอบด้วย 6 ปัจจัย ประกอบด้วย 1.) มีความหลากหลายในความเป็นระเบียบ 2.) มีวิถีชีวิตของผู้คนในเมืองปรากฎให้เห็น 3.) เน้นความกระทัดรัดหรือมีขนาดเล็กเพื่อให้คนในชุมชนได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน 4.) สร้างเมืองที่ค่อนข้างซับซ้อนเพื่อชวนให้ผู้คนต่างถิ่นอยากเข้าไปสัมผัสอย่างใกล้ชิดเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตที่พวกเขาไม่เคยสัมผัส 5.) จำกัดขนาดตึกไม่ให้สูงเกินไปและขยับอาคารให้ใกล้กัน เพื่อให้ทุกคนในชุมชนมองเห็นทัศนียภาพ หรือสภาพแวดล้อม 6.) มีความเป็นตัวของตัวเองหรือมีเอกลักษณ์
นั่นเป็นเพียงหนึ่งทางเลือกของวิธีคิดที่จะทำให้เมืองมีเสน่ห์ และที่สุดแล้วจะกลายเป็นเมืองที่น่าอยู่ แต่ก็ยังไม่มีใครรับรองได้ว่าหากนำทั้ง 6 ปัจจัยดังกล่าวมาใช้กับเมืองต่างๆในประเทศไทย แล้วจะประสบความสำเร็จหรือกลายเป็นเมืองที่มีเสน่ห์น่าหลงไหล น่าไปเยือน เพราะการจะก้าวไปสู่จุดนั้นต้องอาศัยการพัฒนาภายใต้ความต้องการของผู้อยู่อาศัย สภาวะแวดล้อม บริบทพื้นที่ และข้อจำกัดด้านทรัพยากรอื่นๆ เพราะฉะนั้นความน่าอยู่ของเมืองในแต่ละพื้นที่จึงแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการตอบสนองความของผู้อยู่อาศัย ความเหมาะสมกับสภาพวัฒนธรรมและค่านิยมในพื้นที่ เพราะหากไม่เป็นไปตามข้อจำกัดดังกล่าวแล้ว ถึงแม้จะพยายามนำวิธีคิดที่ดีสักแค่ไหนหรือเคยประสบความสำเร็จกับการใช้งานในเมืองต่างๆมาแล้วทั่วโลก แต่ถ้าหากขาดการประยุกต์ใช้และคำนึงถึงความเหมาะสมแล้ว ซากเศษของการพัฒนาก็จะยังคงอยู่คู่กับสังคมนั้นๆโดยไม่ถูกใช้งาน และจะกลายเป็นภาพชินตาของผู้คน นำไปสู่การต้องทนอยู่กับมันด้วยภาวะจำยอม
…ณัฏฐ์วสินทร์ โสภา