ภัยแล้งปี 53 ภัยเงียบที่เราต้องตระหนัก

ภัยแล้งปี 53 ภัยเงียบที่เราต้องตระหนัก

เรื่อง/ภาพ : สุเจน กรรพฤทธิ์

กลางเดือนมิถุนายน 2553 ขณะที่หลายคนกำลังบิดหัวก็อกเปิดน้ำประปาแล้วใช้น้ำอย่างสบายใจอยู่ในเมือง ใหญ่ปริมาณน้ำในเขื่อนเกือบทุกแห่งของประเทศไทยตกอยู่ในภาวะวิกฤต โดยมีน้ำอยู่ต่ำกว่าระดับร้อยละ 50 ของทั้งหมด

15 มิถุนายน 2553 กรมชลประทานรายงานว่าปริมาณน้ำในเขื่อนทั้งหมดทั่วประเทศรวมกันคือ 32,787 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยถ้าคิดจากความจุของเขื่อนทั้งประเทศจะเหลือปริมาณน้ำประมาณร้อยละ 47

ขณะที่ปีนี้ฤดูฝนเริ่มต้นช้า ปริมาณน้ำในเขื่อนจึงลดลงอย่างต่อเนื่อง

พล.ต.สนั่น ขจรประสาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับดูแลเรื่องน้ำของรัฐบาลกล่าวว่าขณะนี้สถานการณ์ น้ำของไทยวิกฤตอย่างยิ่ง หากฝนยังไม่ตกลงมา ปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่จะเหลือใช้ได้อีกเพียง 2 เดือนเท่านั้น โดยในเขื่อนสิริกิติ์ที่ทำหน้าที่ส่งน้ำลงมายังพื้นที่ราบภาคกลางนั้น เหลือปริมาณน้ำกักเก็บเพียงร้อยละ 36 ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 18 ปี  ขณะที่เขื่อนที่ใหญ่ที่สุดอย่างเขื่อนภูมิพลเหลือปริมาณน้ำเพียงร้อยละ 32 เท่านั้น

“กระทั่งตอนนี้กรุงเทพฯ ต้องดึงน้ำมาจากจังหวัดกาญจนบุรี (ผ่านแม่น้ำแม่กลอง) มาสำรองเพื่อใช้ทำน้ำประปา”

พล.ต. สนั่น กล่าวว่ารัฐบาลกำลังตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจเพื่อสำรวจสถานการณ์ภัยแล้งใน พื้นที่ต่างๆ โดยจะมีการทำตารางทำฝนเทียมในแต่ละพื้นที่เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำ

สถานการณ์ที่ชัดเจนที่สุดคือพื้นที่ท้ายเขื่อนป่าสัก เขื่อนที่สามารถกักน้ำจากแม่น้ำป่าสักไว้ได้สูงถึง 960 ล้าน ลูกบาศก์เมตร

กลางเดือนมิถุนายน ปริมาณน้ำกักเก็บของเขื่อนแห่งนี้เหลือเพียง 89 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 9 เท่านั้น

หากตอนนี้ (กลางเดือนมิถุนายน 2553) ใครเดินลงไปที่บริเวณประตูน้ำท้ายเขื่อน สถานการณ์ที่ปรากฏจะยิ่งน่าใจหาย เพราะเมื่อเขื่อนไม่ได้ปล่อยน้ำ คลองชลประทานที่ทำหน้าที่ส่งน้ำลงสู่ลุ่มแม่น้ำป่าสักนั้นเรียกได้ว่า “แห้งขอดติดพื้น” จนสามารถเดินลงไปยังจุดที่เกือบจะลึกที่สุดของคลองได้

สถานการณ์น้ำในพื้นที่อื่นก็ไม่ต่างกัน  ที่เขื่อนลำตะคอง พื้นที่ก้นเขื่อนบางส่วนแห้งขอด กลายเป็นที่เลี้ยงวัวควายของเกษตรกร

สถานการณ์นี้ทำให้ชาวนาในหลายพื้นที่ต้องจำใจเลื่อนการทำนาออกไปอย่าง น้อย 2 เดือน ซึ่งแน่นอนว่าจะเกิดผลกระทบอย่างหนักต่อวิถีชีวิตปกติและการชำระหนี้สิน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ชาวนาบางคนยอมเสี่ยงทำนาให้ตรงตามฤดูกาลคือเริ่มต้นลงดำกล้าในเดือน มิถุนายนตามเดิม โดยแบกรับต้นทุนในการสูบน้ำบาดาลและใช้เครื่องสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติใน ท้องถิ่นขึ้นมาใช้แก้ไขสถานการณ์

ในจังหวัดอุตรดิตถ์ เกษตรกรร้อยละ 50 ลงมือใช้ทำนาไปแล้ว

ธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่าภัยแล้งครั้งนี้รุนแรงที่สุดในรอบ 18 ปี

“ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามแจ้งเตือน จัดระบบการทำนาใหม่ และเร่งสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคอย่างต่อเนื่อง แต่ยังพบอุปสรรคทำให้พัฒนาแหล่งน้ำไม่ได้เท่าที่ควร  ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเราสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ไปแค่ 3 แห่ง คือเขื่อนป่าสัก เขื่อนคลองท่าด่าน และเขื่อนแควน้อย  ทั้งหมดเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  เร็วๆ นี้กรมชลประทานจะสร้างเขื่อนอีก 2 แห่งคือเขื่อนคลองหลวง (จังหวัดชลบุรี) และเขื่อนห้วยสโมง (จังหวัดปราจีนบุรี)”

ดูเหมือนบทสรุปของภัยแล้งและทิศทางข่าวสารที่เกิดขึ้นทุกปีคือ ทางราชการมักออกมากล่าวว่าจำเป็นที่จะต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ตรรกะดังกล่าวยังคงเป็นปัญหา  ในสหรัฐอเมริกามีข้อพิสูจน์แล้วว่าการสร้างเขื่อนไม่ได้เป็นคำตอบของการแก้ ปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากในฤดูแล้ง ปริมาณน้ำในเขื่อนก็ไม่เพียงพอดังที่คาดหมาย  และในฤดูฝน เขื่อนก็ต้องปล่อยน้ำทิ้งไปท้ายเขื่อนจำนวนมากเพื่อรักษาโครงสร้างของตัวมัน เอง

เรื่องนี้เป็นคนละเรื่องกับที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อหลายทศวรรษก่อน คือ สมัยที่มีการเริ่มก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่ง ผู้คิดริเริ่มโครงการมักมีความมั่นใจอย่างมากว่าเมื่อสร้างแล้วจะหมดปัญหา เรื่องน้ำท่วมและปัญหาขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำนั้น  ทว่าเมื่อมีภัยแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ก็จะมีการประกาศว่าเขื่อนนั้นไม่สามารถปล่อยน้ำให้เกษตรกรใช้ได้  ในขณะที่ในฤดูฝนเมื่อปริมาณไหลเข้าเขื่อนเป็นจำนวนมาก สถานการณ์กลายเป็นว่าเขื่อนจะต้องปล่อยน้ำออกมาท้ายเขื่อนเพื่อรักษาโครง สร้างของเขื่อนเอาไว้ จนทำให้ท้ายเขื่อนเกิดสถานการณ์น้ำท่วม

ในทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาเจ้าแห่งการสร้างเขื่อนที่ไทยยึดถือเป็นต้นแบบในการพัฒนา เริ่มเปลี่ยนกระบวนทัศน์การจัดการปัญหาเรื่องน้ำด้วยการทุบเขื่อนทิ้งหลาย แห่ง โดยเฉพาะเขื่อนในภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือ (Pacific north-west) เช่น เขื่อนมอร์มอต เขื่อนผลิตไฟฟ้าซึ่งกั้นแม่น้ำแซนดีในรัฐโอเรกอนที่สร้างมาตั้งแต่ปี 1912  ทั้งยังมี “บัญชีดำ” ของเขื่อนที่จะต้องทุบทิ้งในอนาคตอีกจำนวนมาก

ประเด็นที่พวกเขาให้ความสำคัญเมื่อตัดสินใจทุบเขื่อนคือ เขื่อนขัดขวางการเดินทางของปลาหลากพันธุ์ และความที่เขื่อนในสหรัฐฯ ที่ดูแลโดยเอกชนต้องต่ออายุสัมปทานกับสำนักงานคณะกรรมการจัดระเบียบพลังงาน แห่งสหรัฐฯ ทุก 50 ปี โดยต้องทำตามข้อกำหนดใหม่ทางด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้มีต้นทุนในการบริหารสูงมาก  ดังนั้น เมื่อคำนึงว่าอายุการใช้งานของเขื่อนบางแห่งก็เริ่มถึงอายุขัย เช่น บางแห่งที่อายุมากๆ เขื่อนมักมีตะกอนตกหน้าเขื่อน ทำให้ประสิทธิภาพกักเก็บน้ำลดลง  การเลิกแบกภาระขาดทุนด้วยการทุบทิ้ง หันไปหาวิธีจัดการน้ำและการผลิตพลังงานแบบอื่นจึงเป็นทางเลือกที่คุ้มทุน มากกว่า

กลับมาที่เมืองไทย ในปี 2543 JICA (Japan International Cooperation Agency : องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น) ศึกษาพบว่า เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ซึ่งสร้างกั้นแม่น้ำปิงและแม่น้ำวังมา ตั้งแต่ปี 2508 และ 2515 ตามลำดับ  ทำให้ตะกอนที่พัดพาลงสู่ปากแม่น้ำลดลงจาก 25 ล้านตันต่อปี เหลือ 6.6 ล้านตันต่อปี หรือหายไปถึงร้อยละ 75

นั่นหมายความเขื่อนภูมิพลกับสิริกิติ์มีความเกี่ยวพันโดยตรงกับสถานการณ์ การสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่บ้านขุนสมุทรจีน จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งถูกทะเลกลืนกินไปเรื่อยๆ นอกจากจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างครบวงจรแต่อย่างใด

ปี 2553 ในขณะที่บางรัฐของอเมริกาเลิกเชื่อว่าเขื่อนคือคำตอบของการแก้ไขปัญหาความ แห้งแล้ง และหันไปประหยัด จัดการความต้องการในการใช้น้ำ และปรับตัวด้วยความเคารพธรรมชาติ

เมืองไทยยังคงตีข่าวความแห้งแล้ง แล้วก็ชี้ไปในทิศทางเดิมว่าการสร้างเขื่อนคือคำตอบของปัญหา ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่า ตราบใดที่มนุษย์ยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรม ยังคงก่อวิกฤติให้กับสภาพแวดล้อมต่อเนื่อง ธรรมชาติก็จะลงโทษเรา

จะสร้างสัก 100 เขื่อนก็ไม่พอ และไม่ได้ช่วยให้พวกเรามีน้ำใช้เพิ่มมากขึ้นแต่อย่างใด

ที่มา : มูลนิธิโลกสีเขียว (www.greenworld.or.th/)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *