โซ่ความเสื่อม

โซ่ความเสื่อม

ผศ. ดร. กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์
กรรมการเดอะเนทเวิร์ค และ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บทความตอนที่แล้วว่ากันถึงการตัดโซ่เพื่อร้อยห่วงโซ่คุณ ค่าทางสังคมให้สืบทอดสร้างผลทางบวกเป็นการต่อเนื่อง ด้วยตัวอย่างโรงเรียนเยาววิทย์ที่มุ่งปลูกฝังเมล็ดพันธุ์ความรู้และความดี งามให้กับเด็กๆ เพื่อขยายผลเป็นความสามารถผลักดันตัวเองและครอบครัวให้หลุดพ้นวงจร จน-เจ็บ-โง่ ช่วยให้สังคมพัฒนาอย่างสมดุลยั่งยืนได้ต่อไป

ครั้งนี้ลองมามองใน ขั้วตรงข้ามดูบ้างว่า พฤติกรรมทางลบของมนุษย์จะก่อโทษส่งผลเกี่ยวโยงเป็นห่วงโซ่ความเสื่อมต่อไป ได้หรือไม่ อย่างไร โดยขอหยิบยกกรณีการพนันมาเป็นหัวข้อวิเคราะห์กันในรอบนี้ ทั้งนี้เนื่องจากการตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่พบว่ามีผู้ติด ใจในการเสี่ยงโชคหลายชนิดตั้งแต่ หวย สลากกินแบ่งที่ถูกกฎหมายไปจนถึงการพนันขันต่อทั้งแบบเจ็บตัว น้อยไปจนถึงแทบฆ่าตัวตาย และทั้งที่แอบเล่นในบ่อนผิดกฏหมายในประเทศไปจนถึงความพยายามเดินทางข้าม พรมแดนไปเล่นในต่างประเทศ

อาการเสพย์ติดการพนันนับ เป็นปัญหาพื้นฐานหนึ่งของความยากจน ซึ่งในที่นี้กินความถึงสภาวะทางจิตใจที่ไม่ได้วัดค่าเพียงตัวเลขทางการเงิน เพราะเมื่อมุ่งหวังโชคหรือลาภลอยจากการพนันย่อมสะท้อนถึงสภาวะไม่รู้จักพอ เพียง ไม่มุ่งสะสมทรัพย์สินจากรากฐานอาชีพการทำงานแต่ไปคาดหวังโชคบันดาล ความไม่รู้พอประมาณ และความขาดเหตุผลนี้ทำให้คนจำนวนมากยากจนอยู่เป็นนิจ

แม้หลายคนจะพยายามกล่าวอ้างว่าเล่นการพนันเป็นกิจกรรมสันทนาการ ชนิดหนึ่งเพียงเท่านั้น แต่ปัญหาอยู่ที่การเล่นพนัน มักนำไปสู่การติดพนันได้ง่ายคล้ายผีพนันเข้าสิง ต่างจากกิจกรรมสันทนาการประเภทอื่นที่เราไม่เห็นเคยได้ยินว่ามีผีสปาหรือผี ดำน้ำเข้าสิง แม้ว่าการติดการพนันนี้จะมีหลายระดับ แต่ตัวเลขเก่าแก่จากงานวิจัยของ Sommers เมื่อปี คศ. 1988 ระบุว่า สัดส่วนพวกติดงอมแงมอาจมีสูงถึง 2-6% ของผู้เล่นพนันทั้งหมด จนถึงปัจจุบันตัวเลขนี้อาจเพิ่มขึ้นอีกมาก สังเกตได้จากการเติบโตของธุรกิจนี้ โดย PricewaterhouseCoopers คาดการณ์ว่ารายได้จากธุรกิจการพนันทั้งโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 80 พันล้านเหรียญสหรัฯ เป็น 125 พัน ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี ค.ศ. 2010

การบริโภคการพนันนับเป็น ช่องทางสร้างเงินมหาศาล ในแอฟริกาใต้ทำรายได้สูงถึง 1.1 พันล้าน เหรียญสหรัฐฯ ในปี คศ. 2004 ส่วนในรัสเซียก็มีคาสิ โนอยู่มากกว่า 800 แห่ง ฝั่งยุโรปเอง The European Casino Association ประกาศว่ามีคาสิโนอยู่มากกว่า 1000 แห่งแล้ว กล่าวกันว่าการเติบโตนี้จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะประเทศที่ กำลังพัฒนามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นและยังเป็นช่องทางการสร้างงานให้กับคนใน พื้นที่ ส่วนที่หลบๆ ซ่อนๆ อยู่ก็จะได้ทำกินกันอย่างถูกกฏหมาย

พวกที่อยากแสวงประโยชน์ก็ กล่าวอ้างผลพวงทางเศรษฐกิจกันไป แต่เราท่านล้วนทราบกันดีว่าในการพัฒนาสังคมไม่อาจมองประเด็นด้านเศรษฐกิจแต่ เพียงด้านเดียวได้ แต่ต้องพิจารณาผลสืบเนื่องเป็นห่วงโซ่ร้อยรัดกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบทางสังคม การพัฒนาทรัพยากรในประเทศ การที่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านการเปิดคาสิโนอย่างถูกกฎหมายในประเทศไทยมีที่ มาจากความกังวลถึงการบ่มเพาะอุปนิสัยรักการเสี่ยงโชคอันจะส่งผลต่อเนื่อง สะสมไปเป็นการติดการพนัน และนำไปสู่ความล่มสลายของสถานะการเงิน ครอบครัว จิตใจ และปัญหาสังคมอีกหลายประการ

ข้อมูลจากการศึกษา พฤติกรรมผู้บริโภค ระบุเลยว่า คนที่ได้ลิ้มลองการพนันแล้วมักถอนตัวไม่ขึ้น เมื่อติดแล้วจะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ พวกที่บอกว่าเล่นเอามันส์แค่ในงบที่ตั้งไว้ พอเอาเข้าจริงความสามารถในการตัดสินใจมักจะเปลี่ยนไปจากสภาพความเป็นจริง งานวิจัยโดย Raghunathan และ ter Hofstede จาก University of Texas, Austin บอกว่าคนที่เข้าไปเล่นพนันมักอ้างว่าจะหยุดเล่นเมื่อได้เงินตาม จำนวนที่ตั้งเป้าไว้ (Target) หรือหยุดเมื่อหมดเงิน ที่กะไว้เป็นงบ (Budget) ปัญหาอยู่ที่คนเล่นพนันมัก มีความคาดหวังเกินจริง (Unrealistic Expectation) ดูได้จากจำนวนเงินที่อยากได้มักสูงกว่าเงินที่เอาไปเล่นถึง 16 เท่าโดยเฉลี่ย ทำให้ท้ายที่สุดหยุดไม่ได้เพราะไม่บรรลุเป้าที่ต้องการเสียที คนจำนวนมากจึงได้หยุดจริงๆ ก็เมื่อเสียจนหมดตัวไปแล้ว

ความสามารถในการคิดและ ตัดสินใจอย่างสมเหตุสมผลที่ลดลงนี้ แม้จะเกิดขึ้นชั่วครั้งคราวที่เข้าไปเล่นพนัน แต่อาจนำไปสู่ปัญหาที่เรื้อรังในระยะยาวได้ เพราะมนุษย์มีกลไกป้องกันตัวเองอยู่ เมื่อเสียโง่ไปแล้ว ก็มักสร้างกระบวนการคุ้มครองความรู้สึกของตัวเอง (Defensive Reaction) โดยสร้างข้ออ้างต่างๆ นานา เช่น เพื่อความสนุก คลายเครียด สร้างความตื่นเต้นแก้เซ็ง การปฏิเสธความจริง (Denial) เป็นการให้เหตุผลกับตัวเองทำให้ไม่รู้สึกแย่จนเกินไป แต่นานวันเข้ากระบวนคิดนี้จะสะสมเป็นสนิมเกาะกินกางกั้นเหตุผลและความรู้สึก ผิดชอบชั่วดีได้ เหมือนพวกโกงชาติลอยหน้าลอยตาคอรัปชั่นแบบไม่สะทกสะท้าน ที่ทำได้ก็เพราะในใจเขามีกลไกให้เหตุผลกับตัวเองอยู่ เช่น ใครๆ ก็ทำ เรากินแล้วแบ่งชาวบ้านด้วยยังนับว่าดีกว่าอีกหลายคน!

เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบ เฉพาะบุคคลที่ยังไม่รวมถึงปัญหาสังคมต่อเนื่อง เช่น ครอบครัวมีปัญหา ภาวะหนี้สินล้มละลาย ก็ทำให้เป็นที่ น่าคิดว่าคุ้มกันหรือไม่ระหว่างโอกาสทางเศรษฐกิจ กับการทำลายสติปัญญาและความสามารถควบคุมชีวิตอันนับเป็น คุณสมบัติของมนุษย์ที่ทำให้เหนือกว่าสัตว์  ส่วนข้ออ้างที่เสนอว่าสร้างคาสิโนเป็นสถานที่สนองความต้องการเฉพาะของคนมี เงินหรือพวกที่ต้องการซื้อความสุข เด็กข้างบ้านถามว่าเหมือนกันกับที่ผู้ใหญ่บางคนบอกว่าคนโตแล้วมีเงินสูบ บุหรี่กินเหล้าได้ แบบนี้หรือเปล่า? ส่วนพวกที่อ้างว่าเล่นชิลล์ ชิลล์ แค่คลายเครียดไม่ติดหรอก Raymond Krych จาก Scott and White Clinic and Hospital บอกว่าให้ระวัง วงจรอุบาทว์ เพราะพวกเล่นคลายเครียดวันนี้มักจะหวนมาเล่นแก้เครียดอีกในวันหน้า เมื่อต้องเจอกับภาวะกดดัน นานวันเข้าจะกลายเป็นว่าไม่ได้เล่นแล้วรู้สึกเครียด (อ้าว!) คล้ายไม่ได้เสพย์ยาแล้วเครียดเลยต้องเสพย์อีก ความคล้ายคลึงกันของกลไกติดพนันติดยานี้ยังสะท้อนให้เห็นจากปัญหาเสพย์ติด แบบพ่วง เช่นที่ Lesieur, Blume, and Zoppe (1986) เจอว่า 19% ของคนติดพนันมักติด เหล้าติดยาด้วย

จากข้อวิเคราะห์ข้างต้นนี้ จะเห็นว่าข้ออ้างการเล่นการพนันสามารถส่งผลเป็น ห่วงโซ่ความเสื่อมต่อเนื่องไปสู่ปัญหาตั้งแต่ระดับบุคคลสู่ครอบครัวและสังคม แถมยังข้ามกลุ่มจากหมวดติดพนันไปสู่ความแตกแยก ยาเสพย์ติด และอาชญากรรมสารพัดชนิด หากเราเชื่อว่าทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงกันอยู่ในสายใยแห่งชีวิต ก็จะเห็นปฏิกิริยาทั้งทางบวกและลบเกิดขึ้นเป็นผลต่อเนื่องดังที่นำเสนอเป็น ตัวอย่างฝากกันคิดไว้ในบทความตอนนี้กับครั้งที่แล้วค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *