ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจคือการสร้างความหมายของชีวิต

ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจคือการสร้างความหมายของชีวิต

ในสายตาของลูกจ้างหลายคน การทำงานเป็นความเหนื่อยยาก เป็นอีกส่วนหนึ่งที่แยกขาดจากชีวิต ดึงเอาพลังไปหลายส่วน กลับมาด้วยความล้า และนอนดูทีวี ในสมัยก่อน อาจกล่าวได้ว่าการทำงานอย่างสังคมเกษตรกรรมเรา เช่น การทำนา จะเห็นว่าการทำงาน กิจกรรมทางครอบครัว และสังคม เป็นเรื่องเดียวกัน มีการสังสรรค์เฮฮากัน ดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกันไประหว่างนั้น และก็ยังเป็นการสานสัมพันธไมตรีกับเพื่อนในชุมชนไปพร้อมกันด้วย

การแยกขาดการทำงานกับชีวิตส่วนอื่นขาดจากกันนั้น ย้อนกลับไปได้ถึงช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม (เริ่มต้นจากในอังกฤษ) คือช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เริ่มมีเครื่องจักรไอน้ำที่สามารถทำงานแทนแรงงานคนจำนวนมากได้ แต่กระนั้นแรงงานคนก็ยังสำคัญอยู่ เพราะต้องคอยดูแลควบคุมกลไกของเครื่องจักรให้ดำเนินไปได้

ในตอนแรกนั้น การใช้เครื่องจักรทำให้มีผลิตภาพมากขึ้น ทำให้ได้ผลกำไรมากขึ้น และนำผลกำไรไปขยายโรงงานต่อ แต่ต่อมา กลายเป็นว่ามีการขยายโรงงานเกิดขึ้นทุกที่ จนกระทั่งเป็นว่าสินค้าออกมามากขึ้น กำไรลดลง และเพื่อให้ได้กำไรมากขึ้น นายจ้างก็นำไปขูดรีดกับคนงาน ผลที่ตามมาคือ ..

ประการแรก ในด้านเวลา นายจ้างต้องตั้งเวลาเข้าออกงานให้ชัดเจน และเพื่อให้เครื่องจักรใช้งานได้เต็มที่คุ้มกับที่เสียเงินลงทุนไป นายจ้างก็ต้องให้คนงานทำงานมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงทำให้หลายโรงงานกำหนดชั่วโมงทำงานมากกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน ให้การลาหยุดเป็นไปไม่ได้ เวลาทำงานเป็นเรื่องที่ตายตัว “เวลาว่าง” จึงเกิดขึ้นในยุคนี้คือ เวลาที่ปลอดจากงานทั้งปวง แถมมีเรื่องตลกที่ไม่ค่อยขำคือ นายจ้างในยุคนั้น ส่วนหนึ่งตั้งนาฬิกาให้เร็วขึ้นในช่วงเช้า และตั้งนาฬิกาให้ช้าลงในช่วงหัวค่ำ เพื่อว่าคนงานจะได้ทำงานมากขึ้น (โดยไม่รู้ตัว)

ประการที่สอง ในด้านสภาพการทำงาน เนื่องจากเครื่องจักรแน่นอนและไว้ใจได้ ดังนั้นการทำงานของคนจึงถูกจำกัดให้ทำอย่างซ้ำซาก จำเจ และต่อเนื่อง แทบจะไม่ต่างจากการเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักรทีเดียว ที่ดูจะร้ายที่สุด คือแรงงานเด็ก ที่โรงงานปั่นด้ายแห่งหนึ่ง มีพนักงานทั้งหมด 1,500 คน แต่ปรากฏมีแรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี อยู่ถึงเกือบ 100 คนทีเดียว

นี่คือยุคเริ่มต้นของ “การทำงาน” ที่แม้จะเป็นการทำเพื่อ “ดำรงชีวิต” แต่ก็นับว่าเป็น “ชีวิต” ที่แยกออกจาก “ชีวา” มีชีวิตแต่ไร้ชีวา

หากจะหาความมีชีวิตชีวา ยุคนั้นก็เกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ขึ้น เช่น การท่องเที่ยว ที่ว่าบริษัทรถไฟมีตั๋วเดินทางไปเช้า-กลับเย็นราคาถูกในช่วงหยุดสุดสัปดาห์ สำหรับครอบครัวคนงานที่ต้องการออกไปพักผ่อนนอกเมือง เมืองที่มีแต่โรงงานอุตสาหกรรม ในยุคนี้เอง “ความสุขเริ่มเป็นสิ่งที่ต้องถูกซื้อ”

นี่แหละ ที่ธุรกิจแยกออกจากสังคมไม่ได้ การลงทุนในอุตสาหกรรมยุคนั้นได้เปลี่ยนแปลงสังคมโดยรวมให้เลวร้ายลง วิชาสังคมวิทยาก็เกิดขึ้นในยุคนี้ เพื่อเข้าใจอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสังคม สหภาพแรงงาน และพัฒนาการต่อเนื่องมาเป็นพรรคแรงงาน ในโลกตะวันตก ก็ถือกำเนิดมาจากการไม่พอใจต่อการกดขี่เหล่านี้เช่นกัน

เอาล่ะ .. แม้ว่าเราจะห่างไกลจากยุคนั้นมานานแล้ว แต่คนงานส่วนหนึ่งก็คงตอบได้ว่าสภาพการทำงานเช่นนั้นยังมีอยู่อีกหรือไม่ อีกทั้งภาคธุรกิจส่วนหนึ่งก็พึงตระหนักว่า อย่างแรก การลงทุนในประเทศโลกที่สาม หรือประเทศค่าแรงต่ำ อุตสาหกรรมที่ขูดรีดนี้ก็ยังมีอีกมาก มิหนำซ้ำอาจจะเป็นอุตสาหกรรมที่เปี่ยมด้วยความเสี่ยงจากสารพิษเสียอีก อย่างที่สอง แม้ว่าการประกอบการส่วนหนึ่งจะไม่ใช่อุตสาหกรรมอย่างที่ว่าไว้ ทว่าได้พัฒนามาเป็นงานออฟฟิศ แต่ก็ยังเอาเปรียบ (อาจจะโดยไม่รู้ตัว) ผ่านระบบการจัดการสมัยใหม่ที่แข็งทื่อตายตัว ทำให้เวลาทำงานเป็นช่วงที่ไร้ความสุข สภาพการทำงานซ้ำซาก จำเจ กดดัน และเต็มไปด้วยความรีบเร่ง

ดังนั้น จึงเกิดแนวโน้มใหม่ ที่คนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งปรารถนาที่จะทำงานอยู่กับบ้าน แม้ว่าค่าจ้างอาจจะไม่ได้มากเท่าใดนัก หรือเลือกจะเป็นฟรีแลนซ์ หรือว่าส่วนหนึ่งเลือกที่จะหาทางเอางานอดิเรก หรือนำสิ่งที่ตนรักมาทำเป็นงานให้ได้ และอีกส่วนก็ใฝ่ฝันที่จะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม

นี่เป็นกระแสด้านกลับของการพัฒนา กระแสด้านกลับของวัตถุนิยม ซึ่งมีภาพยนตร์สั้นแนะนำให้ดูอยู่เรื่องหนึ่ง ชื่อว่า “Story of Stuff” ที่สะท้อนแง่มุมของผู้คนที่ทุกวันก็ตั้งหน้าตั้งตาทำงาน ทำงาน ทำงาน เพื่อหาเงิน หาเงิน หาเงิน จนกระทั่งรู้สึกเครียด เบื่อหน่าย ก็แก้เบื่อด้วยการออกไปช้อปปิ้ง ช้อปปิ้ง ใช้จ่ายให้ตนเองเกิดความสุขส่วนตัว ใช้จ่ายให้เกิดอุปสงค์ในตลาด ให้วงจรเศรษฐกิจเดินไปได้ การช้อปปิ้งอาจจะเป็นหนี้บัตรเครดิตเสียอีกด้วย กลับมาก็เหนื่อยนอนหลับไป แล้วก็ลุกขึ้นไปทำงานหาเงินอีก แล้วก็เครียด เบื่อ จนต้องไปช้อปปิ้ง และก็เป็นหนึ้บัตรเครติดเพิ่มขึ้น ใช้ชีวิตวนเวียนอยู่อย่างนั้นเป็นวงจรอุบาทว์ที่ทำให้เราใช้ทรัพยากรเกินตัว เกิดการขูดรีดกับแรงงานราคาถูก ที่ก็เป็นมาตั้งแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรม

หากธุรกิจไม่มองว่าตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้ด้วยแล้ว การที่จะตั้งสติหยุดคิดเพื่อให้เห็นชีวิตที่ไร้ความหมายของปัจเจก และการผลิตที่ทำลายโลก ก็คงเป็นเรื่องยาก เพราะการรับผิดชอบต่อสังคมนั้น จำเป็นจะต้องเริ่มต้นด้วยการมองทุกข์ให้เห็นตามความเป็นจริงให้ได้เสียก่อน

***********
ภาพยนตร์ Story of Stuff สามารถดูได้ที่นี่ http://www.storyofstuff.com/international/ มีฉบับบรรยายไทยให้เลือกชมด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *